รีวิวหนังสือ: Future ปัญญาอนาคต

รีวิว Future ปัญญาอนาคต ภิญโญ
ผู้เขียน : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
สำนักพิมพ์ : openbooks
จำนวนหน้า : 270 หน้า
Genre : Self-Help
ISBN : 9786167982137
พิมพ์ครั้งแรก : 10/2016

Future ปัญญาอนาคต

6.5

เนื้อหา

5.0/10

การนำเสนอ

8.0/10

Pros

  • ภาษาสวยงาม อ่านเพลิน ลื่นไหล จรรโลงใจ
  • ภาพประกอบคมชัด รูปเล่มแข็งแรง กระดาษดี

Cons

  • ไอเดียที่นำเสนอ กว้างเกินไป และไม่แปลกใหม่
  • พูดถึงอนาคต เแต่ละเลยประเด็นสำคัญหลายอย่าง

Key Messages

  • หากอยากจะคิดใหม่และกำหนดอนาคตใหม่ ต้องละวางความลัมเหลวและความสำเร็จในอดีต เพื่อจะได้สำรวจตนอย่างเคร่งครัด ฟังเสียงสะท้อนจากรอบด้าน เพื่อหาอัตลักษณ์ตนที่แท้จริง แล้วสร้างความแข็งแกร่งขึ้นมาใหม่ ให้ถูกต้องกับContext ที่เปลี่ยนไป มองหาที่ยืนหนึ่งให้ได้ แล้วเพ่งไปยังเป้าหมายโดยไม่ไขว้เขว มุ่งมั่น ด้วยทัศนคติและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ไม่ย่อท้อแม้จะล้มเหลว  

Future ปัญญาอนาคต หนังสือเล่มแรกของ Wisdom Series ผลงานของคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks และนักคิด นักเขียนคนสำคัญของประเทศ

ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ณ ขณะนั้น Future เป็นหนังสือที่เรียกได้ว่า “โดดเด่น” ติดอันดับ Best Seller ยาวนาน มีคำโปรยหน้าปกสุดอลังการ ว่าเป็นหนึ่งในสิบหนังสือ Non-fiction ยอดเยี่ยมประจำปี 2016 จากทั้ง The Matter และ The Momentum และยังได้คำนิยมจากเหล่าคนดังมากมาย เช่น 

“ถ้าปีนี้มีเวลาอ่านหนังสือเล่มเดียว ให้อ่านเล่มนี้” 

ผมจำได้ว่า เมื่อครั้งที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ความรู้สึกที่ได้รับ คือ การได้ดื่มดำสำนวนภาษาที่ล้ำลึก สลักสลวย ให้ความอิ่มเอิบใจ อ่านแล้วเพลิดเพลินลืมเวลา รูปเล่มที่สวยงาม รูปประกอบที่คมชัดงดงาม เพียงแค่วันเดียวก็อ่านเล่มนี้จบได้สบายๆ 

 

ศึกษาปัญญาอดีต เพื่อสร้างตัวตนใหม่สู่อนาคต

จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ ตามคำของคุณภิญโญ คือการ “มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงตน การสร้างตนเองขึ้นมาใหม่ของผู้อ่าน”  โดยวิธี “…ชักชวนท่านผู้อ่านให้เดินทางร่วมกันไปสู่อนาคต ด้วยการศึกษาประสบการณ์จากทั่วโลก แล้วลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่น…” ในเล่มนี้ คุณภิญโญจะพาผู้อ่านแวะไปยังเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นอดีตมากมาย เริ่มจากการสลายของราชวงศ์โรมานอฟ ยุคก่อตั้งประเทศของสิงคโปร์ ต้นกำเนิดของวิธี”การจัดการตนเอง” ของPeter Druker ย้อนมายุคซามูไรของมูซาชิ แล้วจึงมาบรรจบที่ยุคร่วมสมัย เช่นการอยู่รอดของร้านหนังสือเล็กๆในฝรั่งเศส หรือร้านขนมปังเล็กๆในปารีส กำเนิด Paul Smith และการปฏิวัติวงการแฟชั่น ของเมือง Antwerp เพื่อให้ผู้อ่านได้ศึกษาตัวอย่างว่าการรู้จักตัวตน จนไปสู่ความสำเร็จได้นั้น มันมีหน้าตาอย่างไร

คุณภิญโญเสนอว่า ในสมัยโบราณ ผู้ที่อ้างว่าตัวเองหยั่งรู้อนาคต เป็นผู้ทรงอำนาจ แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันก็ไม่มีใครสามารถทำได้ จะมีก็แต่ผู้ที่รู้จักตัวเองเป็นอย่างดีเท่านั้น ที่สามารถสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ในยุคแห่งความโกลาหลได้

ซึ่งการที่เราจะเรียนรู้ รู้จักตัวเองได้ดีนั้น เราต้องสามารถประเมินข้อดีข้อด้อยของเราได้ รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง  รู้ว่าจะอะไรที่จะมาปิดจุดอ่อนนั้นได้ รู้ว่าเป้าหมายคืออะไรแล้วจะนำไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร รู้ว่าอะไรที่เราทำได้ ทำได้บ้าง และ ทำไม่ได้เลย 

ละทิ้งอัตตา ละทิ้งความสำเร็จที่เคยมีมา เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต แสวงหาอัตลักษญ์ใหม่ของตน ประสานสร้างตนขึ้นมาใหม่ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ แม้เราอาจไม่ต้องยิ่งใหญ่ แต่ก็จะมีที่ยืนในเวทีโลกอย่างมั่นคง

เมื่อครั้งที่ผมยังไม่ค่อยรู้อะไรมาก ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ “ดี” เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ก็รู้สึกมีแรงบันดาลใจ พร้อมจะออกไปเผชิญโลก อยากก่อร่างสร้างตนขึ้นมาใหม่ เพื่อเอาชัยในเวทีชีวิตจริง (รู้สึกอยู่ได้ไม่กี่วัน)

 

ปัญญาอดีต ยังไปต่อในอนาคตได้หรือไม่? 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีประสบการณ์ และมุมมองในชีวิตมากขึ้น ความรู้สึกอิ่มเอิบใจ ก็ถูกแทนที่ด้วยความสงสัย ยามได้กลับมาย้อนอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง 

เรารู้ได้อย่างไร ว่าวิธีดังกล่าวนี้ จะพาเราผ่านพ้นอนาคตไปได้ ?

เพราะด้วย Scenario ที่คุณภิญโญยกมานั้น มีแต่ปัญญาอดีตในยุคที่มนุษย์เป็นตัวละครหลักของโลก ซึ่งเน้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง เข้าใจตัวเอง ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง และให้ความสำคัญกับคุณค่าความรู้สึกของมนุษย์ ตามวิถีของ Humanism movement

และว่ากันตามจริง หากไม่มีเรื่องสำนวนภาษาอันงดงาม ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แตกต่าง จากหนังสือ Self-Help ที่ประดับบนชั้น Bestseller ซึ่งมีขายในท้องตลาดกลาดเกลื่อน มิหนำซ้ำ วิธีที่คุณภิญโญนำเสนอนั้น ช่างเป็นนามธรรม และตีความได้กว้างมากๆ 

ในเล่มนี้แทบจะไม่มีการพูดถึง บทบาทของปัญญาประดิษฐ์ ไม่มีการพูดถึงหุ่นยนต์ที่จะมาแทนที่มนุษย์  ไม่มีการพูดถึงบทบาทของ Social Media และเรื่องข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน ซึ่งโดยส่วนตัว ผมคิดว่าหนังสือที่จะมาเสนอให้เอาตัวรอดในอนาคตนั้น มันจำเป็นต้องเอาสิ่งต่างๆเหล่านี้ มารวมไว้ด้วย

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณค่าความเป็นมนุษย์ ถูก Disrupt ด้วยความเจริญก้าวหน้าในอนาคต? นี่เป็นปัญหาสำคัญในอนาคต ที่หนังสือเล่มนี้ละเลยไป 

หนังสือ ปัญญาอนาคต จึงเป็นหนังสือที่อุดมไปด้วยปัญญาแห่งอดีต มีฤทธิ์ทำให้คุณเคลิบเคล้ม อิ่มเอิบใจ …แต่จบลงด้วยว่าสุดท้าย มันไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ๆเลย ที่จะทำให้คุณ Reinvent yourself และผ่านพ้น “อนาคต” ไปได้ 

Opinion

ในบรรดาหนังสือทั้งหมดของ Wisdom Series  หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่อ่านเพลินและเข้าใจง่ายที่สุด อาจจะมีข้ามไปข้ามมาบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกเสียอรรถรสใดๆ (ต่างกับเล่มสุดท้ายใน Series คือ Present – ปัญญาปัจจุบัน ที่เนื้อหากระโดดไปมา และอ่านยากมาก) ภาษาที่คุณภิญโญใช้นั้นมีความสุนทรีย์ มอบความดื่มดำให้ผู้อ่านได้อย่างน่าทึ่ง 

อย่างไรก็ตามด้วยเนื้อหาโดยรวมที่ “กว้างๆ” ไม่ได้มีความต่างจากหนังสือ Self-Help ที่มีวางเต็มท้องตลาด และไม่ได้มีประเด็นใดในเล่มที่สื่อถึงการเอาตัวรอดในอนาคตได้จริงๆ ผมคงแนะนำแค่หนังสือเล่มนี้ว่าเหมาะสำหรับการอ่าน “เอาเพลิน” เท่านั้นครับ

สรุปเนื้อหา

บทนำ: Defining Future อดีตศึกษาเรื่องอนาคต

ผู้ที่หยั่งรู้อนาคต เป็นผู้ทรงอำนาจมาตั้งแต่โบราณ แต่อำนาจมีแนวโน้มจะฉ้อฉล ตามจำนวนที่มีมากขึ้น โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ของรัสปูติน ซึ่งไต่เต้าสู่จนเป็นที่ปรึกษาสำคัญของราชววงศ์โรมานอฟ ด้วยอาศัยทักษะในการทำนายอนาคต แต่สุดท้ายก็ใช้อำนาจของตนจนเสื่อมเสีย ถึงคราวฆาตของตัวเอง  

อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะไม่ว่าผู้คนนั้นจะสูงต่ำ หรืออยู่ในวรรณะใด ก็หวั่นเกรงในความไม่แน่นอนของมัน 

กล่าวถึงประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถูกขับออกจากมาเลเซียในปี1965 โดยไม่ทันได้ตั้งตัว ณ เวลานั้น สิงคโปร์เป็นเพียงแค่เมืองท่าที่ไม่มีทรัพยากรใดๆ ต้องพึ่งพาทรัพยากรต่างๆ จากมาเลเซีย แต่ผู้นำที่ชื่อลี กวน ยูนั้น ก็เลือกจะวางรากฐานสิงคโปร์ สร้างจิตวิญญาณของประเทศ เพื่อสร้างอนาคตขึ้นมาใหม่ จนเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ในเวลาเพียง 20 ปี 

ความสำเร็จของลี กวนยู ชาวจีนอพยพ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจ ต่อ เติ้ง เสี่ยว ผิง จนสามารถพัฒนาจีนได้ทัดเทียมนานาประเทศ ในกาลต่อมา 

เรื่องราวของสิงคโปร์และจีน คือการกำหนดอนาคใหม่ให้กับประเทศ โดยสรุปบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต นำประสบการณ์ทั่วโลกมาปรับใช้ เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ยุคใหม่ 

คุณภิญโญยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก มาชี้ให้ผู้อ่านเปลี่ยนแปลงตน สร้างตนเองขึ้นมาใหม่ เดินทางสู่อนาคต ด้วยการศึกษาประสบการณ์จากทั่วโลก สร้างสรรค์ สร้างความแตกต่าง ให้ปัจเจกชนสามารถกำหนดอนาคตของตนได้ ในยุควุ่นวายโกลาหล โดยจะให้ผู้อ่านค่อยๆทบทวนหลักการ และยกกรณีศึกษาของผู้ที่ผ่านการทำงานจริงมาก่อน เป็นการทบทวนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างปัญญาสู่อนาคต 

หากอยากจะคิดใหม่และกำหนดอนาคตใหม่ ต้องละวางความลัมเหลวและความสำเร็จในอดีต เพื่อจะได้สำรวจตนอย่างเคร่งครัด ฟังเสียงสะท้อนจากรอบด้าน หาอัตลักษที่แท้จริง สร้างความแข็งแกร่งขึ้นมาใหม่ ให้ถูกต้องกับContext ที่เปลี่ยนไป หาที่ยืนหนึ่งให้ได้ แล้วเพ่งไปยังเป้าหมายโดยไม่ไขว้เขว มุ่งมั่น มีทัศนคติและวิชั่นที่ชัดเจน ไม่ย่อท้อแม้จะล้มเหลว  

บทที่ 1 : Know yourself  รู้จักตัว

ก่อนจะกำหนดอนาคตได้ ต้องรู้จักตนเองให้ดีเสียก่อน โดยยกตัวอย่างกรณีร้านหนังสือ กาลิญานี ร้านหนังสืออังกฤษเก่าแก่ในมหานครปารีส และร้าน daunt books ในลอนดอน ที่แม้จะกระแสdisruption ของอีบุ้ค จะทำให้ร้านหนังสือมากมายล้มหายตายจาก แต่ร้านหนังสือเหล่านี้ ก็ยังคงเป็นที่นิยม เพราะร้านสามารถกุมหัวใจสำคัญของร้านหนังสือไว้ได้ คือการคัดเลือกหนังสืออย่างหลากหลายและลุ่มลึก โดยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกหนังสืออย่างดี มีสิ่งดีๆมานำเสนอผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านได้พบหนังสือใหม่ๆมากมาย ที่อาจไม่เคยพบมาก่อนและอาจพบได้ที่นี่ที่เดียว  

บทที่ 2 : Managing oneself จัดการตน

กล่าวถึง Peter F Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการของโลก ผู้นิยามคำว่า “การจัดการ” และเจ้าของ บทความคลาสสิก “Managing oneself”

แรกเริ่ม Peter Drucker ประสบความสำเร็จในฐานะนักการเงิน แต่ด้วยความรู้ตนเองว่าไม่ชอบชีวิตเช่นนี้ จึงลาออกไปกำหนดอนาคตชีวิตตัวเองใหม่ ให้ตรงกับคุณค่าที่ตัวเองให้ความสำคัญ เขารุ้จุดแข็งและคุณค่าของตัวเอง และรู้ว่าจะนำพาตัวเองไปสู่จุดนั้นอย่างไร จนทำให้เขาได้ทำงานกับรัฐบาล กับองค์กรระดับโลก ได้สอนหนังสือแลกเปลี่ยนความคิดกับนักศึกษามหาลัย เกิดมุมมองกว้างไกล ลึกซึ้ง เล็งเห็นสิ่งที่จะเกิดในอนาคตก่อนผู้อื่น เช่น เขามองว่าอนาคตแรงงานยุคใหม่ จะเป็นยุคของ knowledge worker และ มหาวิทยาลัยจะลดความสำคัญลงไป  

บทที่ 3 : What are your strengths ยืนบนจุดแข็ง

มีหลายวิธีในการประเมินจุดแกร่งของตัวเอง Drukker เสนอว่าหลังจากเราลงมือทำอะไรสำคัญๆ เราควรประเมินตนเป็นระยะ เพื่อดูว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ดูว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดด้านไหน อาจให้คนที่เราสนิท ช่วย reflect จุดอ่อนจุดแข็งของเรา สิ่งสำคัญคือเราต้องยอมรับอย่างซื่อสัตย์ว่า อะไรที่เราแล้วสำเร็จ อะไรที่ล้มเหลว อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ และอะไรที่ทำไม่ได้เลย  

เราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่สามารถเชี่ยวชาญทุกด้าน จึงต้องใช้พลังไปกับด้านที่เราถนัด จะทำให้เรามีผลงานชัดขึ้น มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น  รู้ว่าจะหาทักษะอื่นๆ ใหม่ๆ อันใดมาสอดรับกับจุดแข็งของเรา และรู้จักจุดอ่อน และหาวิธีปิดจุดอ่อนนั้นให้ดี 

บทที่ 4 : Soul searching  แสวหาจิตวิญญาณ 

กล่าวถึงสงครามทุ่งซิงะฮะระ ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และทำให้เกิดโรนินหลายหมื่นคน ว่าไม่ต่างอะไรกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดคนว่างงานมากมาย เราทุกคนมีโอกาสตกอยู่ในสถานการเดียวกับมูซาชิ ที่โดยไม่ทันตั้งตัว ก็กลายเป็นซามูไรไร้สังกัด แม้เราอาจไม่ต้องแสวงหาเจ้านายใหม่ แต่ก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นสู่จุดสุดยอดเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ 

ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้ตลอดเวลา การลุกขึ้นมาใหม่ให้ได้ทุกครั้งที่ผิดพลาด จะกลายเป็นทักษะสำคัญ 

คุณภิญโญเสนอว่าความสามารถของมูซาชินั้น ผ่านวิธีเดียวกันกับดรักเกอร์ คือ การประเมินตน เพื่อหาจุดแข็งและปิดจุดอ่อน มูซาชิฝึกฝนมรรคาแห่งดาบ และศาสตร์แขนงอื่นๆ จนเกิดเป็นปัญญาบูรณาการ สามารถเชื่อมศาสตร์ต่างๆเข้าหากันได้  

สิ่งที่มูซาชิทำ คือการค้นหาอัตลักษณ์ตัวเอง หาจิตวิญญาณที่แท้จริงของตัวเอง ว่าตนเองเป็นใคร จุดแข็งตนเองอยู่ที่ไหน  จะพัฒนาทักษะอื่นๆ เพื่อเสริมจุดแข็งตัวเองได้อย่างไร อะไรคือจุดอ่อน และจะปิดจุดอ่อนอย่างไร เหล่านี้คือหัวใจของกลยุทในการอยู่รอดแห่งยุคสมัยที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน วิถีสมัยใหม่จะเป็นอย่างไร 

ซึ่งขัดกับปัจจุบัน ที่เด็กๆถูกพ่อแม่ยัดเยียดทักษะทุกด้าน ต้องให้บุตรหลานเป็นเลิศทุกด้าน เข้าเรียนคณะที่เชื่อว่าจะทำให้มีอนาคตที่ดี โดยหารู้ไม่ว่าอนาคต มันเปลี่ยนเร็วกว่าที่ใครจะจินตนาการได้ 

ระบบการศึกษาปัจจุบันนั้นพัฒนาต่อเนื่องมาจากยุคปฏิวัตอุตสาหกรรม เป็นเพื่อการผลิตแรงงานจำนวนมากมาป้อนเข้าโรงงาน กลายเป็นว่าเราได้สินค้าหน้าตาเหมือนๆกันออกจากสถาบันศึกษา  มันจึงได้ทำลายพรสวรรในแต่ละปัจเจกชน ละเลยว่าแต่ละคนนั้นมีเส้นทางของตน พวกเขาเกิดมาเพื่อค้นหาเส้นทางนั้น และเปล่งพลังงานออกมา หาใช่เพื่อสานฝันหรือจินตนการของพ่อแม่ หรือแก้ความผิดพลาดของพ่อแม่ในอดีต 

บทที่ 5 : Reinventing yourself  ประสานสร้างตนใหม่ 

กล่าวถึงเหตุการณ์ เมื่อญี่ปุ่นปิดประเทศ หลังที่ตระกูลโตกุงาวะได้รับชัยชนะจากสงคราม ภายหลังจากปัจจัยภาวะยุคล่าอาณานิคมที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ญี่ปุ่นจึงต้องยอมเปิดประเทศหลังปิดไปกว่า 250ปี เป็นการปิดฉากประเทศที่แม้จะเคยยิ่งใหญ่ แต่เมื่อไม่สามารถเผชิญหน้ากับวิทยาการใหม่ๆได้ ก็ต้องพ่ายแพ้ เสียตัวตนเดิมไป…จนภายหลังก็สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้ เมื่อได้ศึกษายอมรับวิทยาการของภายนอก และสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ 

กล่าวถึง ลีโอนาโด ดาวินชี่ ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงโดยการเป็นศิลปินรับใช้ตระกูลเมดิซี จนโด่งดัง แต่ด้วยความเป็นคนไม่เชี่ยวชาวทางภาษา จึงถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานใน Sistine chapel  อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเพื่อไปแสงหาอนาคตใหม่ในเมืองมิลาน สร้างตัวตนขึ้นใหม่ในฐานะนักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร 

กรณีนี้จึงสอนว่า อย่าโหยหาอดีตอันยิ่งใหญ่ จงเร่งสร้างตนขึ้นมาใหม่ เพราะการสร้างตัวตนใหม่ คือหัวใจของการสร้างอนาคต 

บทที่ 6 : Focus  มั่นในทิศทาง 

เมื่อนาคตไล่ล่า ความเปลี่ยนแปลงจะถาโถม เราจะสับสนวุ่นวาย ให้เราตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไป มุ่งความสนใจไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่จะพาเราไปสู่การเลือกทางเดินใหม่ในชีวิต 

เช่นในกรณีของร้านน้ำชา Ippodo และผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli ที่มุ่งเน้นแน่วแน่ทำสิ่งที่ตนรักอย่างเดียว จนประสบความสำเร็จ 

บทที่ 7 : Identity สร้างสรรค์อัตลักษณ์

กล่าวถึงพอล สมิธ ซึ่งในวัยเด็กฝันจะเป็นนักปั่นจักรยาน แต่อุบัติเหตุระหว่างฝึกซ้อมทำให้เขาต้องพักรัษาตัวหลายเดือน จนหันมาสร้างตัวตนใหม่หลังศึกษาเรื่องผ้าและแฟชั่น พอลได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเสื้อสูท ให้ลดความเป็นทางการลง เขาจึงสร้างอัตลักษณ์ของตน และได้สร้างแนวทางใหม่ให้กับสังคม ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ยึดติดกับอดีต เขาได้ทำลายชนชั้นบนเสื้อผ้าที่อังกฤษสร้างสมมานานปี  และนี่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ

คำถามคือ หากอัตลักษณ์คือการสร้างความแตกต่างจากผู้อื่น แล้วคุณจะยืนขึ้นมาได้อย่างไรในโลกที่ทุกคนสร้างทุกอย่างไปจนแทบจะหมดแล้ว?

คุณภิญโญยกตัวอย่างร้าน La Parisienne ซึ่งได้รับเลือกเป็น ร้านบาแกตที่อร่อยที่สุดในปารีส จากผุ้เข้าแข่งขัน 115 ร้าน จนมีชื่อเสียงโด่งดัง  นี่คือวิธีหนึ่งในการสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ นั่นคือ จงเป็นที่หนึ่ง ไม่ว่าด้านหนึ่งด้านใด 

บทที่ 8 : Designing future นักออกแบบอนาคต 

แต่แน่นอน เราคงเป็นที่หนึ่งกันทุกคนไม่ได้ การจะถูกคัดเลือกในโลกสมัยใหม่ ถ้าไม่ใช่ตำนานเก่าแก่ หรือไม่ได้เป็นหนึ่ง ก็ต้องสร้างความแตกต่างให้ได้ ในโลกที่ทุกอย่าง ทุกห้าง ทุกเมือง เริ่มดูคล้ายกันหมด 

คุณภิญโญ ยกตัวอย่างถึงเมืองAntwerp  ที่เปลี่ยนตัวเองจากเมืองท่าศูนย์กลางการค้าขายน้ำตาลในยุค 1510 และเริ่มเสื่อมถอยลงไปตามการมาของขั้วอำนาจใหม่ๆในยุโรป จนมาสู่การสร้างตัวตนใหม่ในช่วง 1990 ที่ประกาศตนว่า จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นโลก แข่งกับปารีส มิลาน ลอนดอน และนิวยอร์ก 

จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง สามารถสร้างสรรค์เหล่าdesigner ชื่อดัง ออกมาได้ในระดับสากล 

เบื้องหลังความสำเร็จนี้ คือการช่วยเหลือของรัฐบาล รัฐบาลที่ดีจึงมีหน้าที่ในการวางแผน นโยบายในระดับมหภาคที่ถูกต้อง เพื่อให้เมืองสามารถสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมคน คนจะได้มาสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ จัดให้มีระดับสาธารนูปโภคพื้นฐานที่ดี มีระบการคมนาคม มีสถานศึกษาที่ดี เปิดพื้นที่ให้สิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นมาได้ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ยากที่จะสร้างอนาคตให้กับผู้คนในโลกสมัยใหม่ (…ย้อนมาดูประเทศไทย)

บทที่ 9 : Small and smart เล็กและงดงาม 

ขนาดธุรกิจมีผลกับทิศทางชีวิตของเจ้าของ คุณเลือกได้ว่าจะผลิตแค่ไหน กำหนดได้ว่าอะไรคือขนาดที่เหมาะสม ที่จะไม่ทำให้เรือของคุณล่ม

ไม่ว่าสินค้าหรือบริการนั้นจะเป็นอะไร เล็กหรือใหญ่ ถ้านำพาตัวเองไปจนถึงจุดสูงสุดได้ สินค้านั้นจะมีที่ยืนเสมอ นั่นจึงมีธุรกิจขนาดเล็กมามายเกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี ทำให้คนธรรมดาเริ่มต้นกิจการโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใดมากมาย และกำหนดขนาดธุรกิจได้ตามอัธยาศัย คนสามารถเชื่อมถึงกันได้ง่ายขึ้น คนกลางจึงค่อยๆหายไป คุณมีช่องทางเสรอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับโลกเสมอ อย่างน้อยก็โลกเล็กๆรอบตัวคุณ

แต่คุณภิญโญเสนอว่า โลกสมัยใหม่ที่ผู้คนอยู่หน้าจอออนไลน์เชื่อมต่อกันได้ง่ายนั้น หลายๆคนจะกลับมาคิดถึงความเรียบง่าย และชีวิตออฟไลน์ การกลับมามีชีวิตที่แท้จริง  

บทที่ 10 : The Past นิยามอดีต 

กล่าวถึงอดีตของครอบครัวคุณภิญโญ แม่ของคุณภิญโญที่ใช้เวลา 7วัน เพื่อเดินทางจากซัวเถามาไทย แต่ 70 ปีผ่านไป กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่ชม.ก็มาถึงได้  และจากเดิมที่จีนชนบทนั้นอดอยากแร้งแค้น ก็กลายเป็นประเทศอันทันสมัยและยิ่งใหญ่ 

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ทำให้จีนต้องปฏิรูปตนเองอย่างจริงจัง เติ้งเสี่ยวผิงต้องยอมละทิ้งอดีต และใช้ผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ยอมปฏิรูปประเทศ ปลดปล่อยประชาชน ปลดปล่อยพลังการผลิต ความคิดสร้างงสรรค์ อันเป็นพลังที่ช่วยสังคมให้พ้นจากความยากจนและล้าหลัง 

Share

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

รีวิวหนังสือล่าสุด

China Next Normal รีวิว หนังสือ
Social Science

รีวิวหนังสือ: China Next Normal – วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

จีนจะเป็นอย่างไรในยุคPost Corona เมื่อ COVID มาเร่งเวลาเข้าสู่ China Next Normal – วิกฤตินี้สร้างโอกาสให้จีนได้อย่างไร หาคำตอบได้ในเล่มครับ

post corona book review รีวิว
Social Science

รีวิวหนังสือ: Post Corona – From Crisis to Opportunity

โลก(อเมริกา) จะเป็นอย่างไรในยุค Post Corona – หนังสือที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงที่จะรวดเร็วและรุนแรง ผ่านมุมมองของศาสตราจารย์นักธุรกิจชั้นเซียน

บทความอื่นๆ

Solon's Warning คำเตือนของ โซลอน
Perspective

คำเตือนของโซลอน – Solon’s Warning

เมื่อพระเจ้าครีซัสผู้มั่งคั่งและทรงอำนาจที่สุดแห่งยุคตรัสถาม โซลอน ว่าเคยพบใครที่มีความสุขมากกว่าพระองค์หรือไม่ เขากลับตอบชื่อสามัญชนที่เสียชีวิตแล้วกลับมา!