Solon and Croesus
- โซลอน (Solon) นักปราชญ์และนักกฏหมายชาวกรีกเอเธน ผู้ได้รับการยกย่องด้านสติปัญญาอันเป็นเลิศ ได้เยือนอาณาจักรลิเดีย (Lydia) ซึ่งปกครองโดยพระเจ้าครีซัส(Croesus) กษัตริย์ผู้ซึ่งร่ำรวยและมีอำนาจมากที่สุดแห่งยุคสมัยนั้น
- ชื่อเสียงของโซลอนย่อมเป็นที่สนพระทัยของพระเจ้าครีซัส พระองค์ทรงต้อนรับโซลอนเช่นแขกคนสำคัญ แต่ผู้มาเยือนนั้น กลับมิได้รู้สึกอะไรใดๆกับสภาพแวดล้อมอันแสนวิจิตรหรูหราของพระราชวัง รวมถึงทรัพย์สมบัติอันอลังการต่างๆ ของพระองค์เลย
- ท่าทีที่นิ่งเฉยของโซลอน ทำให้พระองค์ทรงแปลกพระทัยอย่างมาก จึงตรัสถามโซลอนว่า จากประสบการณ์ชีวิตอันเปี่ยมล้นและจากประสบการณ์ที่โซลอนได้ไปท่องเที่ยวมาหลากหลายพื้นที่นั้น ท่านคิดว่าใครคือผู้ที่มีความสุขมากที่สุด ที่ท่านเคยพบเจอมา?
- แน่นอน พระองค์ทรงคิดว่าโซลอนต้องตอบว่าเป็น “พระเจ้าครีซัส” เพราะจากความมั่งคั่งและอำนาจที่เขามีนั้น คำตอบย่อมเป็นอื่นไม่ได้
- แต่โซลอนคิดอยู่ชั่วขณะ ก็ตอบว่า ชายผู้มีความสุขในโลกที่เขาได้รู้จักนั้น คือ “เทลลัส แห่งเอเธนส์ (Tellus of Athen)”
- Tellus เป็นนักการเมืองฐานะปานกลาง แม้ไม่ร่ำรวยมาก แต่ก็ไม่อดอยากอะไร เขามีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีบุตรชายที่สง่าผ่าเผยและเป็นคนดี มีหลานตัวเล็กน่ารัก ตัวเขาเองมีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บใดๆ
- Tellus เสียชีวิตในสมรภูมิรบ ขณะกำลังเข้าไปปกป้องเพื่อนทหารอย่างหาญกล้า มันจึงเป็นการเสียชีวิตเยี่ยงวีรบุรุษ ซึ่งชาวเอเธนส์ก็จัดงานศพให้เขาอย่างสมเกียรติสูงสุด เท่าที่คนธรมมดาจะพึงได้
- จะมีผู้ใดมีความสุขทัดทัดเทียมคนผู้นี้ได้อีกเล่า ชายผู้มีเพรียบพร้อมทั้งทรัพย์สมบัติ ผู้มีครอบครัวอันอบอุ่น มีสมาชิกในครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีอาชีพที่น่านับถือ มีบุตรอันทรงเกียรติ และเสียชีวิตเยี่ยงวีรบุรษ!
- “…แต่ชายผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว!” พระเจ้าครีซัส ตรัสด้วยความประหลาดใจ จึงทรงถามว่า แล้วใครล่ะ เป็นคนที่มีความสุขอันดับสอง ที่โซลอนเคยพบเจอ
- โซลอนคิดอยู่นาน แล้วตอบไปว่า “คลีโอบิส และ ไบทอน แห่งเมืองอาร์โกส (Kleobis and Biton of Argos)”
- มารดาของชายหนุ่มทั้งสองเป็นนักบวชแห่งวิหารเทพีเฮร่า ซึ่งมีครั้งหนึ่ง เธอต้องมาเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองแด่เทพเจ้า แต่วันนั้นเธอกลับไม่พบวัวลากเลื่อนที่เธอใช้ในการเดินทางอยู่เป็นประจำ เธอทุกข์ใจอย่างมาก ทำให้บุตรทั้งสองอาสาลากรถเลื่อนอันหนักอึ้งของมารดามาเอง พวกเขาลากมันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เป็นระยะทางยาวไกลถึง 6 ไมล์
- เมื่อมาถึงวิหาร มารดาผู้ซึ่งปิติสุขกับความเสียสละของบุตรทั้งสอง จึงได้สวดมนต์ต่อเทพีเฮร่า ให้บันดาลพรที่สูงที่สุดที่คนธรรมดาจะมีได้
- ซึ่งหลังจากที่ชายหนุ่มทั้งสองได้ทานอาหารและเฉลิมฉลองในงานพิธีอย่างมีความสุข พวกเขาก็เผลอหลับไปในวิหาร และไม่ตื่นมาอีกเลย และภายหลังผู้คนแห่งอาโกสก็สร้างรูปปั้นของทั้งสองคนนี้ไว้ในวิหาร เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่พวกเขา
- “นี่จึงเป็นพรอันสูงสูดจากพระเจ้าที่จะประทานให้คนธรรมดามีได้ คือการตายอย่างมีความสุขสงบ และมีเกียรติยศ” โซลอนกล่าวอย่างเรียบง่าย
The Happiness Man in the World?
- แต่ทั้งสามคนนั้นก็ตายไปแล้ว! … และด้วยโทสะ เพราะคิดว่าโซลอนกำลังดูแคลนพระองค์อยู่นั้น พระเจ้าครีซัสจึงตรัสถามตรงไปตรงมาว่า แล้วความร่ำรวยและอำนาจอันล้นเหลือของพระองค์หละ? มันไม่ทำให้พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่มีความสุขในโลกหรอกหรือ?
- พระเจ้าครีซัส – บุรุษผู้มีอำนาจมากที่สุด และทรัพย์สินมากที่สุดแห่งยุคสมัย ผู้ที่ผ่านมาทำอะไรก็ประสบความสำเร็จเสมอ – ไม่ใช่คนที่มีความสุขที่โลกหรอกหรือ?
- โซลอนตอบว่า แน่นอน ณ ตอนนี้ พระองค์คือชายผู้มีทุกสิ่งทุกอย่างเพรียบพร้อม และมีความมั่งคั่งที่สุด ที่ตนเคยประสบพบเจอ มันเป็นความจริงแท้แน่นอน
- แต่ชีวิตคนนั้นมันยาวนานนัก…
- โซลอนกล่าวต่อไปอีกว่า อายุขัยมนุษย์นั้น เฉลี่ยแล้วก็ 70 ปี ซึ่งคิดเป็นหลายหมื่นวัน และแต่ละวัน มันพร้อมจะพลิกผันเสมอ
- ฉะนั้นแล้ว เราไม่มีทางจะวางใจกับความสุข ณ ขณะปัจจุบันได้เลย
- เพราะ โชคชะตานั้น ไม่ว่าที่ผ่านมาจะอยู่เคียงข้างมานานเพียงใด ก็พร้อมจะหันหลังให้ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใคร ไม่สำคัญจะยากดีมีจนเพียงใด ดังเช่นที่ตัวเขาเอง ก็ประสบพบมากมาย ว่าบุคคลผู้เคยร่ำรวยเพรียบพร้อม หลายครั้งก็ถูกชะตาเล่นตลกในตอนท้าย และตายด้วยจุดจบชีวิตที่ทุเรศทุรัง
- มันจึงไม่ง่ายเลย ที่เราจะรู้สึกยินดีกับความสุขในขณะนี้ได้อย่างง่ายๆ หรือกล่าวชื่นชมความสุขของคนผู้ใดผู้หนึ่งได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะมันพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
- อนาคตนั้นมีแต่ความไม่แน่นอน วันนี้เรามีความสุข แต่มันก็พร้อมแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์เสมอ เราไม่มีทางรู้เลย ว่าอนาคตที่กำลังมานั้น พระเจ้าจะดลบันดาลอะไรให้บ้าง
- จึงจะมีก็แต่บุคคลที่พระเจ้ายินยอมให้มีความสุขจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น ที่จะเรียกได้ว่าคนผู้นั้นมีความสุขจริงๆ
- สัจธรรมนี้เป็นจริงกับมนุษย์ทุกคน ซึ่งรวมถึงพระองค์ – พระเจ้าครีซัส – มันไม่สำคัญว่า ณ ขณะนี้ พระองค์จะร่ำรวยและมีอำนาจล้นเหลือมากขนาดไหน พระนามของท่านจะถูกจารึกเป็นมนุษย์ผู้มีความสุขที่สุดในโลกได้ ก็ต่อเมื่อพระองค์ได้ดำเนินชีวิตด้วยอำนาจและคงความมั่งคั่งอย่างล้นเหลือเช่นนี้ จนถึงวันสุดท้ายแห่งลมหายใจ เท่านั้น
- เราจะกล่าวได้ว่าชีวิตของบุคคลนั้นมีความสุขหรือไม่ ก็ต่อเมื่อเราได้สังเกตชะตาชีวิตเขา จวบจนวาระสุดท้ายแล้วเท่านั้น!
- แน่นอน คำพูดของโซลอนนั้นไม่ถูกพระทัยองค์กษัตริย์อย่างมาก พระเจ้าครีซัสทรงคิดว่าปราชญ์ผู้นี้เสียสติไปแล้ว และไม่เก็บคำพูดของเขามาคิดอีกเลย และโซลอนก็ได้จากอาณาจักรลิเดียอันยิ่งใหญ่ ไปอย่างเงียบๆ
Croesus and Fate
- แต่เพียงไม่กี่ปี หลังจากโซลอนจากไป โชคชะตาก็มาถึงดินแดนแห่งพระเจ้าครีซัส
- เมื่อพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ได้เคลื่อนทัพโจมตีอาณาจักรลิเดียอย่างกล้าหาญชาญชัย ทัพของอาณาจักรลิเดียก็พ่ายแพ้ย่อยยับ
- เมื่อมิอาจต้านทานแสนยานุภาพของศัตรูได้ กองทัพของพระเจ้าไซรัสยึดครองเมืองหลวงของลิเดียอย่างรวดเร็ว
- เพียงไม่นานหลังโซลอนจากไป ร่างกายของพระเจ้าครีซัสผู้ยิ่งใหญ่ ก็ถูกผูกมัดไว้กับเสา และกองฟืนรอบๆ เพื่อเตรียมเผาทั้งเป็น!
- บัดนั้น พระเจ้าครีซัส ผู้เคยมีอำนาจ ผู้เคยมีอำนาจวาสนา ความมั่งคั่งเป็นอันดับหนึ่งในโลกหล้า ผู้เคยเผลอคิดไปว่าตัวเองเป็นชายที่มีความสุขที่สุดในโลกนั้น ก็ไม่เหลืออะไรอีกเลย ยกเว้นกายหยาบเหนือกองฟืน
- เมื่อความตายใกล้เข้ามา ก็มีเพียงแต่คำเตือน และนามของโซลอนเท่านั้น ที่ประจักษ์แจ้งในก้นบึ้งหัวใจ ซึ่งพระองค์จึงทรงตรัสออกมา ก่อนจะลาโลกนี้ว่า “โอ โซลอน! เจ้าพูดถูกแล้ว! โอ โซลอน! โซลอน! (“O, Solon, you true seer! O Solon, Solon!”)
Moral of the Story – on the randomness and life
- มองอย่างผิวเผิน ตำนานเรื่องนี้ อาจมีข้อคิดว่า มันสอนให้เราไม่ยึดติด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สิน เงินทอง อำนาจ สอนให้รู้จักการปล่อยวาง ให้ใช้ชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท – ซึ่งข้อคิดเช่นนี้ มันอาจจะไม่ต่างกับนิทานแฝงแง่คิดต่างๆ เรื่องเล่าสุดเกร่อในหนังสือ Self-Help หรือ Quote เท่ๆ ด้วย Graphic coolๆ ของ Life Coach ที่พบได้ทั่วไปตาม Social Media
- แต่อยากจะชี้ชวนให้มองลึกไปในตำนานเรื่องนี้ เพราะ สิ่งที่โซลอนกล่าวเตือนไว้ แฝงด้วยความเข้าใจในเรื่องความน่าจะเป็นและความไม่แน่นอน กล่าวคือ
- 1. สิ่งที่เกิดจากโชค ก็มักจะถูกพรากไปด้วยโชค (อย่างรวดเร็ว) ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ได้มาจากฝีมือจริงๆ ก็จะอยู่ยงและคงทน มีภูมิต้านทานต่อโชคชะตามากกว่า
- หากย้อนไปดูตามประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าพระเจ้าครีซัสนั้น เป็นบุตรของกษัตริย์อัลลีแอทตี้ (Alyattes) ซึ่งในสมัยของกษัตริย์องค์นี้เองที่เรียกว่าเป็น “ยุคทอง” ของอาณาจักร Lydia
- จึงอาจมองได้ว่า พระเจ้าครีซัส “รับช่วงต่อ รับของดี” มาอีกที องค์กษัตริย์ครีซัสนั้นยิ่งใหญ่ แต่ความมั่งคั่งร่ำรวยนี้มันไม่ได้เริ่มมาจากที่พระองค์เริ่มตั้งต้นสามัญชนและไต่เต้าขึ้นมา แต่สว่นใหญ่แล้ว มันมาจากอำนาจและทรัพย์สินที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น
- ในลักษณะนี้ “โชค” ซึ่งก็คือพระองค์ประสูติในยุคสมัยยุคทองของอาณาจักรพอดี และได้รับความมั่งคั่งและอำนาจที่พุ่งทะยานขีดสุดมาอีกที นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของความร่ำรวยและอำนาจอันเหลือล้นของพระองค์
- และแน่นอน เมื่อได้อะไรมาด้วยโชค โชคก็พร้อมจะพรากมันด้วยความรวดเร็วและไร้ความปราณีเช่นกัน!
- 2. ปัญหาการคิดแบบอุปนัย (Induction) และการไม่เข้าใจใน “Rare Event”
- การให้เหตุผลแบบอุปนัย (induction) คือการเอาข้อเท็จจริง เอาสิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วมาทำเป็นข้อสรุป – ในเรื่องเล่านี้ก็คือ กษัตริย์คิดว่าตัวเองมีความสุขที่สุด มีความมั่งคั่ง มีอำนาจมากที่สุด เพราะที่ผ่านมามันก็เป็นเช่นนั้น ตั้งแต่พระองค์ประสูติมา ไม่มีผู้ใดกล้สรุกรานและกล้าต่อกรกับอาณาจักร ส่วนพระองค์เองทำอะไรก็สำเร็จตลอด มีอำนาจและความร่ำรวยเพิ่มพูนมาตลอด จึงคิดไปเองว่าอนาคต มันก็จะยังคงเป็นเหมือนเดิม ไม่มีผู้ใดกล้ามาหักหาญพระองค์ลงได้
- ซึ่งมันจะเป็นประโยคเท็จทันที เมื่อเกิด Rare Event (หรืออีกชื่อคือ Black Swan Event) ดังในตำนานนี้ ที่ Rare event ก็คือการรุกรานของพระเจ้าแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งเป็นอะไรที่อาณาจักรลิเดียไม่เคยพบเจอ ไม่รู้การมีอยู่ของมันมาก่อน
- 3. ปัญหาความไม่สมมาตร (Skewness) ของผลลัพธ์
- ดังเช่นในตำนานนี้ ที่ตำแหน่ง”กษัตริย์”ของพระเจ้าครีซัส อยู่ในสถานะที่ทนความผิดพลาดได้น้อยกว่า และมีความเปราะบาง(Fragility) สูงมากๆ เช่นถ้าลองเทียบมันกับตำแหน่ง”นักปราชญ์” ของโซลอน
- ถ้าโซลอนเกิดพลาด ไปขัดหูขัดตาใครมากๆ แล้วถูกไล่ออกจาก”ตำแหน่ง”นักกฏหมายหรือนักปราชญ์ ชีวิตเขาก็คงไม่กระทบมากนัก
- แต่พระเจ้าครีซัซนั้น หาก “เกิดความผิดพลาด” และถูกไล่ออกจาก”ตำแหน่ง”กษัตริย์แล้ว จะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อ?
- ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่สำคัญว่าที่ผ่านมานั้น คุณจะสำเร็จมามากมายแค่ไหน หรือจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หากสถานะ ตำแหน่ง ทรัพย์สิน หรืออะไรใดๆ ที่คุณมีครอบครองไว้อยู่นั้น ทนต่อความเสี่ยงได้น้อย หรือหากความผิดพลาดนั้นมันมหาศาลพอ มันก็พร้อมที่จะทำให้คุณสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป!
Reference
1.Taleb, Nassim N. Fooled by Randomness: The Hidden Role of Chance in Life and in the Markets. New York: Random House and Penguin.
2.Solon and Croesus. from https://www.greekmythology.com/Myths/The_Myths/Solon_and_Croesus/solon_and_croesus.html