รีวิวหนังสือ: ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว รีวิว review สรุป
ผู้เขียน : ธนินท์ เจียรวนนท์
สำนักพิมพ์ : มติชน
จำนวนหน้า : 304 หน้า
Genre : Memoir
ISBN : 9789740216797
พิมพ์ครั้งแรก : Sep 2019

ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

6.5

เนื้อหา

5.0/10

การนำเสนอ

8.0/10

Pros

  • บอกเล่าประวัติของซี.พี. และสภาพประเทศไทยในอดีตได้อย่างสนุก
  • หลักคิดที่ถ่ายทอด มีความเป็น Practical Point สั้นๆ เห็นภาพ
  • หนังสือจากคนที่ประสบความสำเร็จ ตัวจริง ของประเทศไทย

Cons

  • เขียนอวยCP จนเกินพอดี
  • ยังมีอีกหลายเรื่องน่าสนใจ ที่ไม่ได้เล่า

Key Messages

  • นี่คือยุคปลาเร็วกินปลาช้า ดังนั้น ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้มีคนเก่งกว่า วันข้างหน้ามันอาจล้มเหลวได้  ฉะนั้น  มันยังไม่จบ

The Memoir of Thailand’s Most successful Aristocrat

ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” คือ หนังสืออัตชีวประวัติ ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์

นี่คือหนังสือเล่มแรก จากประสบการณ์ตรง ของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับที่ 75 ของโลก (ข้อมูลจาก Forbes – Billionaire 2019

ในท้องตลาดนั้น มีหนังสือมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จและเศรษฐีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือบอกเล่าประวัติของ Warren Buffett, Steve Jobs , Mark Zuckerberg, Elon Musk, Bill Gates หรือ Jack Ma

แต่นั่นก็เป็นเรื่องของคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ต่างแนวคิด ต่างสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา 

ผมเชื่อว่า ต่อให้มี 10 Elon Musk , 100 Zuckerberg หรือ 1000 Steve Jobs มาเกิดในประเทศไทย พวกเขาก็คงไม่ประสบความสำเร็จมากดังเช่นที่เราเห็น เพราะนี่คือประเทศไทย ซึ่งมีสภาพแวดล้อม มีบริบท มีวัฒนธรรม มีโอกาส มีปัจจัยที่ท้าทาย มีอุปสรรค ที่แตกต่างกันออกไป

มีลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ ที่ต้องปรับตัวอยู่ให้เป็น

ดังนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องที่ดี และเห็นได้ไม่บ่อย ที่คนที่ถือว่า “ประสบความสำเร็จที่สุด”  และ “อยู่เป็นที่สุด” ในประเทศไทย มาเขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนไทย เช่นนี้

หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” จึงเป็นหนังสือที่ผมคิดว่า ตัวแก่น เนื้อหาสาระนั้นมีความน่าสนใจ และ น่าอ่าน ยิ่งถ้าคุณมีอคติอยู่กับกลุ่มบริษัท CP ก็อยากชักชวนให้ลอง “เปิดใจ” อ่านดูครับ แล้วจะพบว่า ถ้าอยากสำเร็จในประเทศไทยนั้น มันช่างเรียบง่ายเหลือเกิน?

อคติ

เมื่อพูดถึง CP (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ผมเชื่อว่า สิ่งแรกที่จะโผล่ขึ้นมาในความคิดของใครหลายๆคน คือคำว่า “ผูกขาด”

อาจเป็นเพราะว่าทุกวันนี้ วิถีการดำเนินชีวิตของเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการจาก CP หรือ อาจเพราะเราเคยได้ยินวิธีการทำธุรกิจของทางบริษัทเอง ไม่ว่าจะเป็นข่าวเรื่อง เกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) , พันธ์ข้าวโพด 888 , รูปแบบการขยายสาขาของ 7-11 รวมไปถึงเรื่องราวต่างๆที่ออกมาในข่าวการเมือง

ตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีอคติกับ CP (แต่เข้าเซเว่นเป็นประจำ)

Review หนังสือเล่มนี้ จึงเขียนโดยคนที่มีอคตินำมาก่อน และเนื่องจากตัวผมเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่อย่างใด ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวต่างๆนะครับ

หนังสือเล่มนี้ แบ่งเนื้อหาหลักๆ ออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ประวัติส่วนตัวของคุณธนินท์ ประวัติครอบครัว และประวัติย่อของกิจการต่างๆของ CP 

    • คุณธนินท์จะเล่าประวัติตั้งแต่สมัย CP ยุคก่อตั้ง ชีวิตวัยเด็กของคุณธนินท์ ประวัติสมัยเรียนหนังสือตั้งแต่ต้องไปเรียนโรงเรียนประจำที่ไทย ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อที่จีนและฮ่องกง จนอายุ 18 ปี แล้วจึงเริ่มชีวิตทำธุรกิจ โดยไม่เรียนต่อต่างประเทศตามที่ครอบครัวได้ตั้งใจไว้
    • จึงกล่าวได้ว่า คุณธนินท์นั้นมาจากครอบครัวที่มีฐานะระดับหนึ่ง และมีพื้นฐานการทำธุรกิจอยู่แล้ว
    • ต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องเล่าที่แสดงถึงความเป็นผู้นำ ความฉลาดหลักแหลม การมองเห็นโอกาส ซึ่งนับว่าล้ำมากๆ ในยุคสมัยเมื่อ 60 ปีก่อน เราจะรู้ประวัติตั้งแต่ตอน CP พัฒนาอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ ปัจจัยอะไรที่ทำให้มันสำเร็จมหาศาล จนมาถึงเรื่องการมองเห็นโอกาสของการนำ 7-11 มาเปิดที่ไทย เห็นโอกาสที่จีน ซึ่ง CP นั้นคือบริษัทต่างชาติบริษัทแรก ที่ไปลงทุนในจีน
    • จนไปถึงเรื่องราวความผิดพลาด และวิกฤติครั้งใหญ่เมื่อครั้งต้มยำกุ้งปี 40 , ความผิดพลาดในการลงทุนด้านเทคโนโลยีของบริษัท Telecom Asia ( True ในปัจจุบัน)
    • อีกอย่างที่ผมชอบมาก คือหลักการบริหารคนในครอบครัว ที่นับว่าเรียบง่าย แต่แหลมคมมากๆ
 

2. ยุทธศาสตร์ต่างๆ ปรัชญา และวิธีคิดของ CP ที่ทำให้บริษัทเจริญเติบโตมาเช่นวันนี้


    • คุณธนินท์จะเน้นย้ำในเรื่อง “หลักสามประโยชน์” เรื่องทำธุรกิจต้องครบวงจร การมุ่งหาสิ่งที่ดีที่สุด การบริหารคน การสร้างผู้นำขึ้นมาในองค์กร การซื้อใจคน การบริหารคนในองค์กร ซึ่งก็เป็น Part ที่สนุกมากๆครับ
 

3. การพัฒนาการเกษตรของไทย โดยนำเสนอผ่านแนวคิดหลักๆ คือ  “สองสูง” และสูงที่สาม ซึ่งเราๆ น่าจะเคยได้ยินมาอย่างเนิ่นนาน

***สามารถติดตามสรุปทั้ง 3 part นี้ได้ใน Section สรุป ข้างล่างนะครับ ***

การผูกขาด

CP และ ผูกขาด น่าจะเป็น Iconic Duo ที่อยู่ในใจคนไทยหลายๆคน

แน่นอนว่าในหนังสือ ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้ จากตัวคุณธนินท์เอง

ในเล่ม คุณธนินท์ จะแทรกข้อความปฏิเสธ (แหงหละ) เป็นระยะๆ ในแต่ละบท ว่า CP ไม่ได้ผูกขาดธุรกิจ อย่างที่หลายๆคนเชื่อกัน ด้วยข้อโต้แย้งหลักๆ ที่ผมรวบรวมได้ดังนี้ครับ

  1. กว่า CP จะประสบความสำเร็จในธุรกิจใด ก็ต้องมีการลองผิดลองถูก มีความเสี่ยง มีอุปสรรคมากมาย แต่พอกิจการไปได้ดี เจริญเติบโต คนก็มักมามองแต่ความสำเร็จ แล้วคิดเอาเองว่า CP ผูกขาด

  2. Model ทางธุรกิจที่ CP ทำอยู่นั้น หลายๆอันก็เอามาจากที่อื่น บริษัททั่วโลกก็ทำกัน แข่งขันกัน เช่น ระบบ Contract farming หรือการพัฒนาพันธุ์ ดังนั้น CP จึงไม่มีสิทธิ์ไปผูกขาดผู้ผลิตหรือผู้บริโภค ได้อย่างแน่นอน
  3.  CP ไม่เคยคิดคุมตลาด เหมือนที่หลายคนคิดว่าจะผูกขาดประเทศไทย มันทำไม่ได้ เพราะไทยเป็นประเทศเสรี ใครๆก็มีสิทธิ์แข่งกับCPได้ ถ้าเขาเห็น CP มีกำไร ก็จะมาแข่งลงทุน

อย่างที่ได้ออกตัวไปตอนต้นว่าผมไม่มีความรู้ความสามารถมากพอจะวิจารณ์ได้ว่า สิ่งที่ CP ทำนั้นเป็นการผูกขาดการค้าจริงๆหรือไม่

แต่ถ้าจะให้เลือกเชื่อจากหลักฐานต่างๆ…

ผมคิดว่า คำโต้แย้งที่มาจากเจ้าสัวเอง – เจ้าสัวที่รวยวันรวยคืน ในSettingประเทศที่ Wealth Gap ห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ – ผมจะให้มันมีน้ำหนักน้อยที่สุดครับ

อยู่เป็น

สุดท้าย…สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจที่สุดในเล่ม คือการ “ให้ Credit”
มันสะท้อนความ “อยู่เป็น” ของเจ้าสัวได้อย่างน่าสนใจ

ตลอดในเล่ม มีการให้ Credit ครอบครัว อาจารย์ เจ้านายเก่า เพื่อนร่วมงาน ทีมงาน ของคุณธนินท์ ซึ่งผมว่าไม่น่ามีต่ำกว่า 50 ชื่อ

มันบอกได้ถึงความเป็นผู้นำตัวอย่างของคุณธนินท์ ที่ไม่สักแต่ว่า ข้าเก่งคนเดียว แต่มันคือการให้เกียรติทุกๆคนที่เคยช่วยเหลือคุณธนินท์มา

จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณธนินท์นั้น อีกด้านหนึง คือผู้ใหญ่ที่มีบารมี มีคนเคารพยกย่องมากมาย

การกระทำนี้ ไม่แปลก…

ที่บอกว่าน่าสนใจ เพราะ การให้ Credit นั้น ก็มีรายชื่อ ‘นักการเมือง’ อยู่ด้วย…ซึ่งมีอยู่แค่หน้าท้ายๆ ไม่กี่ชื่อ

และข้อสังเกตที่สำคัญคือ ไม่มีการให้ Credit, ไม่มีชื่อของ ……. อยู่เลย

ผมคิดว่านี่เป็นอะไรที่แหลมคม และเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตน ความคิดของคุณธนินท์ได้อย่างน่าสนใจมากๆครับ

Opinion

หนังสือเล่มนี้ให้อารมณ์เป็นหนังสือชีวประวัติของคุณธนินท์แบบสั้นๆ รวบรวมแก่นความคิดหลักๆที่ตกผลึกในคุณธนินท์มาโดยตลอด และเป็นหนังสือแนวให้กำลังใจเหล่านักธุรกิจ

เนื้อหาในเล่มนั้นผมเข้าใจว่าเป็น Practical Point กว้างๆ เป็น Mindset ที่มีคุณค่า ต่อคนที่คิดจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะคนในแวดวงธุรกิจ

ส่วนใน Part การพัฒนาเกษตรไทยนั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าใดนัก ว่าทำไมคุณธนินท์จึงต้องใส่มาด้วย

นั่นทำให้ผมคิดว่า คุณธนินท์อาจจะต้องการให้หนังสือเล่มนี้ เป็นมรดก (Legacy) ต่อคนยุคหลังมากกว่า ต้องการให้หนังสือเล่มนี้นำเสนอภาพลักษณ์ของเจ้าสัวธนินท์ และ ภาพลักษณ์ของซี.พี. ที่พึงประสงค์มากกว่าอย่างที่เป็นในปัจจุบันนี้ 

เป็นเจ้าสัว ซี.พี. ในแบบที่อยากให้คนในโลกนี้จดจำ

หนังสือเล่มนี้จึงมีแต่เรื่องที่คุณธนินท์อยากเล่า 

จึงทำให้มีหลายๆประโยคในหนังสือ ที่ผมคิดว่าเป็นการ “อวยตัวเอง” เกินงามไปหน่อย และทำให้รู้สึกไม่อยากอ่านต่อเอาดื้อๆ

และทำให้รู้สึกว่าเคล็ดลับความสำเร็จต่างๆในเล่มนั้น มันยังไม่หมด มีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจในตัวบริษัท CP  ซึ่งคุณธนินท์ไม่ได้กล่าวถึง

ภาพของการทำธุรกิจในเล่มนี้ จริงๆแล้ว มันดูง่ายเกินไป สวยงามเกินไป ตรงไปตรงมาเกินไป มันให้อารมณ์ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่นมากเกินไป มันให้ความรู้สึกว่า ถ้าซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ จะยังไงธุรกิจ ก็ไปรอด

…ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ โลกความเป็นจริงซับซ้อนกว่านั้นเยอะ

ยิ่งการที่คุณธนินท์มาถึงจุดนี้ได้ จุดที่เป็นหมายเลขหนึ่งของประเทศ มันคงไม่ได้มีอะไรตรงไปตรงมาตลอด ในโลกธุรกิจ ในสังคมแบบไทยๆ มันน่าจะมีเรื่องราวน่าสนใจ มากมาย มีเรื่องขาว ดำ เทา ปะปนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

มีเรื่องราวมากมาย…ที่คุณธนินท์คงกั๊กไว้ ไม่ได้ยกมาเล่า

…และคงตั้งใจ ไม่มีวันที่จะเอามาเล่า ไม่ว่าจะในหนังสือเล่มใดๆ

สรุปแต่ละ Part

1. กว่าจะมาเป็น “เจ้าสัว ธนินท์”

นักสู้ตั้งแต่วัยเด็ก

ในหนังสือจะบอกเล่าประวัติคุณธนินท์ตั้งแต่วัยเด็ก โดยพื้นฐานครอบครัวเดิมนั้นต้องบอกว่า คุณธนินท์ไม่ได้เริ่มจาก 0 และออกจะเป็นครอบครัวคนชนชั้นกลางค่อนสูงตั้งแต่แรก เนื่องจาก เดิมทางบ้านก็มีกิจการขายเมล็ดพันธุ์ (ร้านเจียไต๋จึง) อยู่แล้ว และสามารถส่งคุณธนินท์เรียนต่อที่ประเทศจีน และฮ่องกง จนจบชั้นม.ปลายได้ ก่อนที่คุณธนินท์เลือกจะไม่เรียนต่อ แล้วมาช่วยกิจการที่ร้าน ตั้งแต่อายุ 18 ปี

นอกจากนี้คุณธนินท์ยังมีโอกาสไปดูงาน ดูกิจการต่างๆในสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งผมเข้าใจว่าเมื่อ 60 ปี คงมีไม่กี่คนที่จะมีโอกาสได้เดินทางไกลเช่นนี้

ในช่วงวัยเด็กนี้ คุณธนินท์ได้บรรยายว่าตัวเขาเองเป็นเด็กเรียนดี ขยัน คุมตัวเองได้ดี มีระเบียบวินัยแต่เด็ก เพราะต้องใช้ชีวิตช่วยเหลือตัวเองเต็มที่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นเอาแต่เรียน ยังมีทำกิจกรรมอื่นๆมากมาย หลากหลาย

เขาสามารถเข้ากับเพื่อนๆได้หมด ไม่เว้นแม้แต่เด็กเกเรในห้อง เพราะเขารู้จักซื้อใจ ให้ใจ ให้เกียรติ ทุกๆคนจึงยอมรับเขา เป็นหัวหน้าห้อง

เราจึงรู้ว่าคุณธนินท์ อยู่เป็น มาตั้งแต่เด็กๆแล้ว

ก้าวหน้า ไม่ยึดติด แสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด

คุณธนินท์เป็นคนหัวก้าวหน้า ไม่ยึดติดกับวิธีเดิมๆ ตัวเขานั้นคิดเสมอว่าต้องทำแต่ละอย่างให้ดีที่สุด หาของที่ดีที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ดังในกรณีที่เขาเป็นคนแรก ที่เอาระบบวิธีเลี้ยงไก่ เอา Contract farming และเอาพันธุ์ไก่จากสหรัฐอเมริกา มาประยุกต์ใช้กับในประเทศไทย จนประสบความสำเร็จ ในยุคที่ประเทศไทยนั้นยังเลี้ยงไก่กันแบบชาวบ้านๆ ไม่เป็นมาตรฐาน ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมาช่วยเพิ่มผลผลิต

ความสำเร็จในธุรกิจเลี้ยงไก่นี้เอง ที่นำไปสู่การขยายกิจการต่างๆ จน CP ยิ่งใหญ่มาถึงทุกวันนี้

มองเห็นโอกาส ไม่หยุดเรียนรู้

คุณธนินท์ เป็นคนที่มองหาโอกาสต่างๆ ที่หลายๆคนมักมองไม่เห็น เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์เป็นเลิศ เขาให้ Credit กับสิ่งนี้ว่าเกิดการการที่เขาพัฒนาตัวเองสม่าเสมอผ่านการศึกษา และการลงมือปฏิบัติจริง

เมื่อมีข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ในตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถในการตัดสินใจและไหวพริบในตัวเรา (หรือที่คุณธนินท์เรียว่า Software มนุษย์) ก็จะดียิ่งขึ้นๆ 

7-11 คือหนึ่งในธุรกิจที่เขามองเห็นโอกาส ในขณะที่ฝรั่งยังคิดว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม

แต่ที่น่าทึ่งที่สุด  คงเป็นเรื่องที่ว่า CP เป็นบริษัทต่างชาติรายแรก ที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศจีน (หมายเลขใบอนุญาต 0001)

ช่วงที่คุณธนินท์เข้าไปลงทุนในจีนนั้น เขามองว่าเมืองจีนมีปัญหาเรื่อง Logistic อย่างมาก ถนนในเมืองจีนเล็ก คับแคบ ไม่มีรถขนส่ง ต้องใช้แต่รถมอเตอไซ ในขณะที่โรงงานผลิตมอเตอร์ไซด์ของจีนมีอยู่แค่แห่งเดียว ยังไงก็ไม่พอกับความต้องการของชาวบ้าน

เห็นอย่างนี้แล้ว คุณธนินท์จึงลงไปทำธุรกิจเป็น Agent ขายมอเตอร์ไซด์ ซึ่งขายดีมาก ของไม่พอขาย ตอนหลังจึงร่วมทุนกับบริษัทในจีน โดยตั้งบริษัทผลิตรถเสียเอง ไปเอาเทคโนโลยีตกยุคของฮอนด้ามาใช้ ซึ่งยังเหมาะกับการใช้งานของคนจีนในช่วงนั้น ผลคือยิ่วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

แต่ที่น่าเสียดายคือ คุณธนินท์ไม่ได้จริงจังกับธุรกิจนี้มากเท่าที่ควร ทำให้ตอนนี้มอเตอร์ไซที่เข้าผลิตอยู่แค่อันดับ 3 ในจีน ถึงกับบ่นว่าถ้าตั้งใจกับธุรกิจนี้จริงๆ ป่านนี้คงรวยติดอันดับโลกมากกว่านี้อีก (เท่านี้ยังไม่พออีกเรอะ?)

รับมือกับความผิดพลาด

แน่นอน เรื่องราวของคนประสบความสำเร็จระดับโลก จะดำเนินไปไม่ได้หากไม่มีเรื่องความล้มเหลวครั้งใหญ่มาแทรกไว้ ณ ช่วงหนึ่งของชีวิต 

ในกรณีชีวิตของคุณธนินท์นั้น พายุลูกใหญ่มาพร้อมกัน คือ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 และ การมาของโทรศัพท์มือถือ

ณ ขณะนั้นCP พึ่งลงทุน โครงข่าย Fiber Optic เพื่อขยายขอบข่ายการให้บริเวณการโทรศัพท์บ้าน มีการกู้เงินลงทุนอย่างมหาศาล แต่เจ้าสัวเล็งว่าในระยะยาว มันจะคุ้มค่า

แต่เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทลอยตัว หนี้บริษัทก็เพิ่มเป็น 2 เท่าตัว โอกาสล้มละลายก็เพิ่มขึ้น ตอนนั้นเองที่คุณธนินท์ เลือกที่จะขายกิจการห้างโลตัส แมคโคร และ บางส่วนของ 7-11 เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ และเพื่อให้ธุรกิจสื่อสาร การวางเครือข่าย Fiber Optic ยังไปต่อได้ เพราะคิดว่าการลงทุนนี้ จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เก่งแค่ไหนก็พลาดได้ เพราะ Technology ใหม่มาแทนที่ Fiber Optic ทำให้มันหมดความสำคัญลง เงินลงทุนนี่ลงไปก็หมดค่า และถูกปิดฉากอย่างสนิท ด้วยการมาของโทรศัพท์มือถือ

ซึ่งในหนังสือ คุณธนินท์ก็ยังนึกเสียดาย ที่ตอนนั้นน่าจะขายหุ้น Telecom Asia ไป เพราะตอนนั้นมันยังมีมูลค่าสูงและถ้าขาย ก็จะเก็บโลตัสไว้ได้

แต่ผิดพลาดแค่ไหน ก็ต้องนอนให้หลับ และเก็บมันไว้เป็นบทเรียน แล้วก้าวเดินต่อไป

ครอบครัวต้องสามัคคี

ทำไม ในวัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบกงสีในช่วงเริ่มแรกของ CP คุณธนินท์ซึ่งเป็นลูกชายคนเล็กของตระกูล สามารถขึ้นมาเป็นท่านประธานบริษัทได้

คำตอบในเล่มคือ ครอบครัวต้องสามัคคี ครอบครัวกับธุรกิจนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก โชคดีที่ครอบครัวของคุณธนินท์นั้นสามัคคี พี่ชายของเขาก็เล็งเห็นว่าคุณธนินท์คือคนที่เหมาะสมที่สุดในการขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ ทำให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างราบลื่น

นอกจากนี้ คุณธนินท์ยังตั้งกฏเหล็กไว้ 4 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางการปรองดองของคนในบ้าน ข้อที่ผมชอบที่สุดคือ “ต้องรู้จักเสียเปรียบ” คุณธนินท์ไม่เคยคิดว่า ตัวเองทำมาก ได้มา100 แล้วตัวเองควรได้ 70 แบ่งให้พี่น้องคนละ 10 แต่คิดเสมอว่าจะทำให้ได้ 400 เพื่อจะได้แบ่งคนละ 100 เท่านี้เขาก็ได้มากกว่า 70 แล้ว

คุณธนินท์ยัง ยึดถือว่า ในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว ต้องไม่เอาคนในตระกูลเข้ามาทำ เพราะมันจะมีแต่เท่าทุน กับเสียหาย 

คนในตระกูลนั้น ต้องออกไปพิสูจน์ตัวเองก่อนกับธุรกิจอื่นๆที่ยังไม่สำเร็จ หรือที่ตั้งขึ้นมาเอง ถ้าคนนั้นประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะเป็นที่ยอมรับ และพร้อมจะกลับมารับช่วงต่อได้

เส้นทาง 60 ปี แม้จะสำเร็จมากมายแค่ไหน แต่ก็ดีใจได้วันเดียว

มาถึงชื่อเรื่องว่า ทำไม ความสำเร็จถึงดีใจได้แค่วันเดียว ?

คุณธนินท์บอกว่า แม้ตนจะอายุ 80 ปีแล้ว แต่ก็จะยังไม่หยุดทำงาน

แม้ขณะนี้ ใครๆก็ต้องบอกว่าเขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่เขาก็ยังมองว่า สำเร็จได้ พรุ่งนี้ก็ล้มเหลวได้

วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ มีคนเก่งกว่า วันข้างหน้ามันอาจล้มเหลวได้ ฉะนั้น มันยังไม่จบ

ทำให้ตนต้องคิดพัฒนาตลอดเวลา เพราะนี่ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่มันได้กลายเป็น ยุคของปลาเร็วกินปลาช้า

คุณธนินท์ จึงไม่เคยฉลอง… เพราะความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

“พรุ่งนี้ทำงานต่อ”

2. ยุทธศาสตร์ ซี.พี.

ต้องครบวงจร

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ทำให้ CP สำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ คือ “ทำธุรกิจอะไร ต้องครบวงจร”

ไก่ เป็นธุรกิจที่คุณธนินท์ให้รายละเอียดประเด็นนี้ อย่างเห็นภาพที่

CP เอาระบบครบวงจรมาใช้กับ ไก่ เป็นธุรกิจแรก เริ่มตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ (พันธุ์ข้าวโพด) คัดเลือกพันธ์สัตว์ เลี้ยงสัตว์(ด้วย Contract Farming) แปรรูปเนื้อสัตว์ และกระจายสินค้า( Fresh mart, Chester Grill,ไก่ย่างห้าดาว และเซเว่น)

การครบวงจรนี้ ทำให้ไม่ต้องผ่านการบวกกำไรทบๆกันเป็นทอดๆ จากตัวกลางในแต่ละขั้นตอน

คุณธนินท์อ้างว่า มันทำให้ราคาของไก่ถูกลง  คนจนมีโอกาสได้กินไก่ ทำให้ผู้บริโภค เกษตรกร และ CP ได้ประโยชน์ไปด้วยกันหมด

หลักสามประโยชน์

หลักสามประโยชน์คือสิ่งที่คุณธนินท์อ้างว่าเป็นแก่นหลักในการคิดทำธุรกิจของ CP

ไม่ว่าธุรกิจใดๆ หรือทำธุรกิจที่ไหนก็ตาม  CPต้องทำธุรกิจให้มันเกิดสามประโยชน์

สามประโยชน์นี้ได้แก่

  1. ประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์
  2. ประชาชนประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์
  3. ซี.พี. ต้องได้ประโยชน์

คุณธนินท์ เชื่อว่า CP ไปที่ไหนก็ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดไป เพราะมันคือการแสดงความจริงใจ ถือว่าเป็นการให้สไตล์ CP

ประเทศกำลังพัฒนามักกลัวการถูกเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุน CP จึงต้องแสดงให้เขาเห็นว่า เรามิใช่อย่างนั้น เราจะมาช่วยกัน เราจะ win-win

หลักสามประโยชน์นี้เอง ทำให้ CP ยืนหยัดมั่นคงได้ในทุกที่ เมื่อให้ประเทศ ประชาชนได้ประโยชน์ แล้วสุดท้าย มันก็จะตกมาถึงCP

ดังเช่น กรณีที่จีนยอมให้ CP ไปลงทุนเป็นเจ้าแรก ก็เพราะ CP เอาของดีมีประโยชน์ไปให้

หรือ เรื่องไก่ CP ที่เริ่มจากโจทย์ว่า จะทำยังไง คนไทยจะได้กินเนื้อไก่ราคาถูก เมื่อทำได้จริง คนไทยก็มีแหล่งโปรตีนดีๆกินกันถ้วนหน้า ชาติได้ประโยชน์ คนได้ประโยชน์ จนสุดท้ายประโยชน์นั้นก็แปรรูปมาเป็น “กำไร” มหาศาลต่อ CP

ทุกสิ่งในโลกนี้ เป็นของ ซี.พี.

ตลาดทุกแห่งในโลกนี้เป็นของ CP

วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของ CP 

คนเก่งในโลกนี้เป็นของ CP

เป็นของ CP ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่า CP ตั้งเป้าจะครอบครองโลก แต่หมายถึงการมองไกล มองกว้าง มองว่ามีโอกาสมากมายในโลกใบนี้ที่รอให้ CP ไปพบเจอ ไม่จำกัดตัวเองไว้แคบๆเฉพาะที่ประเทศไทย

ตลาด หมายถึง ยังมีธุรกิจอีกมากมายในโลกที่ไม่มีผู้ชนะอย่างแท้จริง ที่CPยังแข่งขันได้ มีธุรกิจมากมายที่รอการบุกเบิก มีโอกาสมากมายที่ CP จะไปลงทุนในประเทศต่างๆ

วัตถุดิบ หมายถึง ถ้าวัตถุดิบราคาถูก คุณภาพดี อยู่ที่ไหน CP ก็จะลงทุนที่นั่น เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่วัตถุดิบในประเทศไทย จะเพียงพอการผลิตสินค้า ส่งตลาดทั้งโลก

และสุดท้าย คน หมายถึง CP จะไม่กำจัดแค่ต้องหาคนเก่งในประเทศมาร่วมงานด้วย CP ไปลงทุนที่ไหน ก็จะหาคนเก่งในที่นั่้นๆมาร่วมงานด้วย ทำให้CP ไม่เคยขาดคนคุณภาพมาร่วมงานเลย

บริหาร และ สร้างคน

CP เติบโตจากธุรกิจ กงสี มาถึงวันนี้ได้ เพราะมีคนเก่งๆจากทั่วโลก

CP มาถึงจุดนี้ได้ เพราะในองกรณ์มีคนเก่งกว่าคุณธนินท์มากมาย ช่วยกันทำงาน

จะดึงคนเก่งมาช่วยงานได้ ต้องเข้าใจว่า คนเก่งต้องการสามอย่าง คือ 

“อำนาจ เกียรติ และ เงิน”

อำนาจ และเกียรติ ทำให้เขาได้มีโอกาสแสดงความสามารถอย่างเต็มภาคภูมิ

ส่วนเงินนั้น มาอันดับสุดท้าย

ถ้าให้เงินเดือนเขาสูง แต่ไม่ให้ตำแหน่งที่ดี ให้อำนาจในการทำงาน เขาก็จะไม่อยากร่วมงานด้วย

แต่เก่งอย่างไร คนเราก็ต้องตาย

จึงต้องมีการสร้างคน มารองรับไว้ก่อน ซึ่งคุณธนินท์ระบุว่า การสร้างคน คืองานสำคัญ ของผู้นำ

การสร้างคน แบบคุณธนินท์นั้น คือการให้โอกาส

ก่อนที่คุณธนินท์จะมอบหมายงานให้ใคร จะวิเคราะห์เสมอว่า คนทำสนใจหรือไม่ เมื่อมอบหมายงานแล้ว ก็จะปล่อยให้เขาคิดและทำอย่างเต็มที่ ให้งบประมาณไม่จำกัด แต่ต้องสมเหตุผล ให้เลือกทีมงาน และวิธีการ ได้อย่างอิสระ

ถ้าคนเก่งทำงานแล้วผิดพลาด จะไม่ตำหนิ แต่สิ่งสำคัญคือ เขาต้องรู้ว่า ทำผิดตรงไหน ผิดแล้วต้องแก้ แต่ถ้าเสียหายแล้วยังทู่ซี้บอกว่าตัวเองทำถูก โยนความผิดให้คนอื่น ไม่ปรับปรุงแก้ไข คุณธนินท์จะปลด และใม่ให้โอกาสอีกเลย

นอกจากนี้ ในยุคที่ธุรกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คุณธนินท์เชื่อว่า การใช้คนรุ่นใหม่ จะช่วยให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้

เพราะคนรุ่นใหม่ ไม่มีกรอบความคิดเก่ามาครอบงำ ไม่มีความสำเร็จเดิม ให้ยึดติด และไม่มีความกลัว ต่อความผิดพลาด ในทีมงาน จึงต้องมีคนรุ่นใหม่ อยู่ด้วยเสมอ

3. การพัฒนาการเกษตรไทย

สองสูง: จนถึงตอนนี้…ประเทศก็ยังสองต่ำ

ทฤษฎีสองสูง เป็นทฤษฎีทางเศรษศาสตร์ที่เราท่านๆ น่าจะคุ้นเคยกัน ซึ่งผมเข้าใจว่าคุณธนินท์ เริ่มพูดถึงทฏษฎีนี้เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว จากปัจจัยที่ในยุคหนึ่งรัฐบาลเข้าแทรกแซงให้ราคาสินค้าเกษตรต่ำลง

ในหนังสือเล่มนี้ ก็ยังมีพื้นที่ให้เรื่องทฤษฎีสองสูงเช่นกัน อาจสะท้อนว่าสิบกว่าปีที่ผ่าน เราก็ยังมีสองต่ำอยู่เช่นเดิม

สองสูง หมายถึง ราคาสินค้าเกษตรสูง และเงินเดือนขั้นต่ำสูง

สูงที่ 1 คือ การทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น จะทำให้เพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มกำลังซื้อ เกิดเงินหมุนเวียนมากขึ้น

สูงที่ 2 คือ ทำให้เงินเดือนขั้นต่ำ และค่าแรงขั้นต่ำของคนเมือง สูงขึ้น เพราะเมื่อสินค้าเกษตรมากขึ้น ค่าครองชีพจะสูงขึ้น จึงต้องเพิ่มรายได้คนจนในเมืองให้สมดุลไปด้วย เมื่อรายได้เพิ่ม คนจะมีเงินไปใช้หนี้ และมีกินมีใช้มากขึ้น

สูงที่ 3

นอกจากสองสูงแล้ว ยังมีสูงที่ 3 คือ ประสิทธิภาพสูง

ประสิทธิภาพสูง หมายถึง ใช้เทคโนโลยี ศักยภาพคน การบริหารจัดการ มาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

ยุทธศาสตร์ข้าว และ Smart Farmer

คุณธนินท์เสนอให้รัฐบาล เป็นผู้ซื้อข้าวแต่เพื่งผู้เดียว และจัดสรรโคตาให้นักธุรกิจค้าข้าวมาซื้อจากรัฐบาล โดยมีระบบตรวจสอบซึ่งกันและกัน 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล บริษัทตรวจสอบมาตรฐานสินค้า โรงสี และธนาคาร

ที่ให้รัฐบาลเป็นคนจัดการทั้งหมด ก็เพื่อจะกำหนดdemand supply ราคาข้าวได้ หากต้องการให้ข้าวราคาสูงขึ้น ก็ลดอุปทานลง โดยใช้วิธีลดพื้นที่ปลูกข้าว

การลดพื้นที่ ทำโดยให้รัฐบาลไปเช่าพื้นที่ตรงนั้นไว้ แล้วจ่ายค่าเช่าให้สูงกว่ารายได้

เงินค่าเช่า รัฐบาลก็เอามาจากราคาข้าวในสต็อกที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออาจนำมาจากผลตอบแทนการใช้พื้นที่เช่า

เมื่อบริหารข้าวได้มีกำไร กำไรก็เอาไปส่งเสริมเกษตรให้ปลูกพืชผลอื่นๆ ที่ราคาสูงกว่าข้าวได้ต่อไป

อีกอย่างที่คุณธนินท์เสนอไว้ คือ การสนับสนุน เกษตรกรคนเก่ง (Smart Farmer) ให้มาทำการเกษตรแปลงใหญ่ ใช้เทคโนโลยี วิธีการจัดการที่ทันสมัย ให้เกษตรหนึ่งคน ทำการเกษตรได้เป็นพันๆหมื่นๆไร่ โดยเอาที่ดินของเกษตรกรอื่นๆ มารวบกัน แล้วมอบหมายให้คนเก่ง จัดการแทนคนที่เหลือ แล้วคนอื่นๆ ก็จะได้มีเวลาทำมาหากินแบบอื่นๆไปด้วย มีรายได้สองทาง

 

Share

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

รีวิวหนังสือล่าสุด

China Next Normal รีวิว หนังสือ
Social Science

รีวิวหนังสือ: China Next Normal – วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

จีนจะเป็นอย่างไรในยุคPost Corona เมื่อ COVID มาเร่งเวลาเข้าสู่ China Next Normal – วิกฤตินี้สร้างโอกาสให้จีนได้อย่างไร หาคำตอบได้ในเล่มครับ

post corona book review รีวิว
Social Science

รีวิวหนังสือ: Post Corona – From Crisis to Opportunity

โลก(อเมริกา) จะเป็นอย่างไรในยุค Post Corona – หนังสือที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงที่จะรวดเร็วและรุนแรง ผ่านมุมมองของศาสตราจารย์นักธุรกิจชั้นเซียน

บทความอื่นๆ

Solon's Warning คำเตือนของ โซลอน
Perspective

คำเตือนของโซลอน – Solon’s Warning

เมื่อพระเจ้าครีซัสผู้มั่งคั่งและทรงอำนาจที่สุดแห่งยุคตรัสถาม โซลอน ว่าเคยพบใครที่มีความสุขมากกว่าพระองค์หรือไม่ เขากลับตอบชื่อสามัญชนที่เสียชีวิตแล้วกลับมา!