ความเหงา คืออะไร? ทำไมคนจึง เหงา?
ความเหงา ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกผิวเผิน ไม่ได้เป็นเครื่องหมายของคนอ่อนแอ คนไม่มีเพื่อน หรือคนประหลาด ไม่ได้เป็นสถานะที่เราต้องพยายามปกปิดมันไว้ และกัดฟันอยู่กับมันไปให้ได้ แต่ความเหงาคือสิ่งจำเป็นในการอยู่รอด เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้างให้มีไว้ในมนุษย์มาเนิ่นนานหลายแสนหลายล้านปี
อารมณ์ต่างๆ มีบทบาทในการทำให้มนุษย์อยู่รอดไม่ว่าจะเป็น ความสุข, ความอิจฉา, ความอยากได้ ที่ทำให้เราไขว่คว้าสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตน หรือ ความทุกข์,ความกลัว,ความเจ็บปวด ทีทำให้เราหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษแก่ตน
และเช่นเดียวกับความหิว ที่ทำให้เรารู้ว่าร่างกายกำลังขาดแหล่งพลังงานในการดำรงชีวิตให้รอด (Physical Need)
ความเหงา ก็ทำให้เรารู้ว่าเรากำลังรู้สึกขาด “ความต้องการของการมีสังคม (Social Need)” ซึ่งมันจำเป็นสำหรับการมีชีวิตรอดของมนุษย์เช่นกัน
ทำไมความต้องการมีสังคม จึงเกี่ยวกับความอยู่รอด?
ลองจินตนาการถึงมนุษย์ยุคหิน เดิมทีธรรมชาติสรรค์สร้างมนุษย์ให้เป็นสัตว์ที่ต้องอาศัยรวมหมู่กันเพื่อความอยู่รอด จากการศึกษา เชื่อว่ามนุษย์เกิด ดำรงชีวิต และตาย อยู่ในกลุ่มเดียวไปตลอดอายุขัย ซึ่งกลุ่มหนึ่งจะประกอบไปด้วยสมาชิก 50 – 150 คน ที่อยู่ร่วมกันเป็นด้วยบทบาทแบบ Hunter-Gatherer คือช่วยกันหาอาหาร ล่าสัตว์ ปกป้องอันตรายซึ่งกันและกัน ดังนั้นลำพังมนุษย์เพียงตัวคนเดียว ที่ไม่สามารถจะหาอาหารได้พอ ไม่สามารถสร้างที่พักอาศัยที่อบอุ่นหรือปลอดภัย ไม่สามารถเลี้ยงลูกของมันได้เอง ก็ย่อมไม่มีโอกาสรอด
ในอดีด มนุษย์ที่จะอยู่รอดได้ จึงจำเป็นต้องมีกลุ่ม ส่วนมนุษย์ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ก็ทำได้แค่รอวันตาย
จึงเป็นไปตามหลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ที่จะยิ่งคัดให้ได้มาซึ่งมนุษย์ที่มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี ผู้ที่จะมีโอกาสอยู่รอดและมีโอกาสขยายเผ่าพันธ์ได้มากขึ้น
มนุษย์จึงเกิดมาพร้อมความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
การคัดเลือกลักษณะให้เหมาะสมที่สุดกับการอยู่รอดนี้กินเวลาหลายล้านปี จนได้ออกมาเป็นมนุษย์ที่พร้อมด้วยสมองอันเป็นเลิศ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาของบริเวณสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เช่น เราสามารถแยกแยะอารมณ์ของคนอื่นได้อย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง เรารู้ว่าใครกำลังโกรธ กลัว มีความสุข เศร้า อิจฉา หรือรังเกียจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานหรือใช้ข้อมูลอะไรมากนัก อาศัยข้อมูลจากเพียงแค่ดูสีหน้า ฟังน้ำเสียง ดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือบางครั้งเรายังมองออกได้ด้วยซ้ำว่าอารมณ์ที่เขาแสดงเป็นจริงหรือแกล้งทำขึ้นมา
เพราะไม่เข้าพวก จึงเจ็บเจ็บปวด
นอกจากนี้ธรรมชาติยังให้อีกสิ่งที่จำเป็นกับความอยู่รอดของมนุษย์ นั่นคือ ความเจ็บปวดทางสังคม (Social Pain)
เปรียบการเจ็บปวดทางกาย (Physical Pain) ที่ทำให้เราอยู่รอดได้ ด้วยการกลัวและหลีกเลี่ยง ภยันตรายที่จะทำให้เราบาดเจ็บ , Social Pain ก็ทำให้เราอยู่รอดได้ ด้วยการกลัว และหลีกเลี่ยงพฤติกรรม ที่จะโดนคัดออกจากกลุ่ม (Fear of Being Excluded)
การมีอยู่ของ Social pain จึงทำให้เราพยายามแคร์ความรู้สึกคนอื่น พยายามเอาใจคนอื่น พยายามที่จะเป็น Somebody ในกลุ่ม พยายามที่จะประพฤติตัวให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม ทำให้เราหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีสิทธิ์ทำให้คนอื่นไม่ชอบหน้าเรา
Social pain ทำให้เรา”กลัว” ความรู้สึกเหงา
และ ยิ่งมีความกลัวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะประพฤติตัวให้เป็นที่น่าคบหามากขึ้น
เพราะถ้าเราเริ่มเหงา แสดงว่าเราเริ่มไม่เข้ากับคนในกลุ่ม นำมาซึ่งอันตรายได้หากสุดท้ายเราโดนขับออกไปจากกลุ่ม และถูกทิ้งให้รอความตาย
จึงไม่แปลกเลย ที่การโดนปฏิเสธจากคนอื่น การไม่เข้าพวก จึงเจ็บปวด (จนถึงยุคสมัยนี้) เพราะนั่นหมายถึงความเป็นความตายของชีวิต
ความเป็นโลกสมัยใหม่ ทำให้มนุษย์เหงามากขึ้น
ดังที่กล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมกัน และกลไกเอาตัวรอดด้วยความเหงา เป็นสิ่งที่ธรรมชาติคัดเลือดและสรรค์สร้างมา มันเป็นสิ่งที่ทำให้ Species มนุษย์สามารถอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองได้อย่างทุกวันนี้
มนุษย์พัฒนาเผ่าพันธ์ตัวเอง จากหลายหมื่นปีก่อนที่เป็นเพียงกลุ่มมนุษย์ถ้ำ แต่ใช้เพียงเวลาไม่กี่ร้อยปี บัดนี้มันสามารถพัฒนาจนเอาตัวชนะขีดจำกัดของมันได้ มันสามารถอยู่รอดได้อย่างง่ายดายด้วยตัวคนเดียว การต้องอยู่เป็นกลุ่มขนาด 50-150 ตัว จึงไม่ได้เกี่ยวโยงกับความเป็นความตายอีกต่อไป
แต่ Natural Selection ไม่ได้ทำงานรวดเร็วขนาดนั้น เวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี ธรรมชาติไม่สามารถสรรค์สร้างมนุษย์ที่มีความอดทนต่อความเหงา ที่สามารถละทิ้งอารมณ์ความเหงาได้
จิตใจเราตอนนี้ ก็ยังเป็นแบบเดียวกับมนุษย์ถ้ำเมื่อหลายหมื่นหลายแสนปีก่อน
เรายังเป็นสิ่งมีชีวิต ที่เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตเป็นฝูง เรายังต้องการสังคม ต้องการการยอมรับจากคนในกลุ่ม เรายังมี Social Need ที่แรงกล้า และมี Social Pain ที่ยังคงความเจ็บปวดเช่นเดิม
ยิ่งมีความเจริญมากขึ้นเท่าใด เราก็มีแนวโน้มที่จะแยกกันอยู่มากยิ่งขึ้น
ด้วยการมาของการปฏิวัติอุสาหกรรม การมาของการคมนาคมที่สะดวกสบาย สังคมชนบท ซึ่งเป็นสังคมที่ใกล้ชิดกัน ก็ค่อยๆหายไป กลายเป็นสังคมเมือง ที่ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น
ด้วยการมาของแนวคิดเสรีนิยม ปัจเจกนิยม ด้วยการมาของ Social Media ที่ทำให้เราแสดงออกมาได้ง่ายขึ้น(Express “yourself”) ด้วยอิทธิพลจากการโฆษณาของสื่อกระแสหลัก ที่เน้นสร้างแนวคิดให้เราพยายามเป็น “คนพิเศษ ไม่เหมือนใคร (Special & Unique)” เหล่านี้ก็ทำให้ผู้คนแยกตัว และเน้นให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลมากขึ้น มากกว่าจะมองเป็นกลุ่ม
ด้วยบรรทัดฐานทางสังคม ที่ต้องการให้เรา “พึ่งพาตัวเองได้” มีสถานะทางสังคมที่น่านับถือ มีงานที่ดี มีเงิน มีทรัพสินท์ราคาแพง มันก็มีสิ่งที่ต้องแลกมา ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะระหว่างทางแห่งการได้มาซึ่งสิ่งที่ทำให้สังคมยอมรับ กลับเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่เราต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
แน่นอนว่า ความเจริญทันสมัยที่เกิดมานั้นทำให้โลกเราดีขึ้น แต่ประเด็นคือเราต้องไม่ลืมว่า เรายังเหงาได้ ความเหงาเป็นเรื่องธรรมชาติ มันไม่ใช่ความผิดอะไร มันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรา (Biological Need) มันเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ และต้องแก้ไข้ให้ถูกวิธี
อันตรายจากความเหงาเรื้อรัง
เมื่อคุณได้รับความเจ็บปวดทางกาย (Physical Pain) สมองจะรับรู้ว่ามันเป็นภัยคุกคาม ทำให้คุณเกิดความเครียด ทำให้คุณอยู่ในสถานะตื่นตัว พร้อมต่อสู้หรือหนี (Fight or Flight) และเมื่อคุณอยู่ในสถานะได้รับความเจ็บปวดทางกายนานๆ (Chronic Pain) สมองของคุณก็จะมีการปรับตัว เพื่อให้คุณพยายามอยู่กับให้ได้ และมีการพัฒนากลไกการป้องกันตัว (Defensive Mechanism)
ความเจ็บปวดจากการขาดสังคม (Social Pain) ซึ่งเกิดจากความเหงา, สมองก็จะรับรู้ว่ามันเป็นภัยคุกคาม เหมือนกับที่มันรับรู้ความเจ็บปวดทางกายภาพ
จินตนาการถึงมนุษย์ถ้ำที่ถูกทิ้งให้อยู่รอดด้วยตัวคนเดียวนานๆ จากเดิมที่สมาชิกในกลุ่มจะช่วยๆกันระวังภัยคุกคาม จากเดิมที่มันสามารถนอนหลับได้สนิท การที่มันต้องอยู่คนเดียว มันก็จะต้องระแวงสิ่งรอบข้างมากขึ้น ระวังสิ่งแปลกหน้ามากขึ้น ปรับตัวให้Sensitiveกับสิ่งต่างๆมากขึ้น เพื่อให้มันเอาตัวรอดได้นานที่สุด
ย้อนกลับมาในโลกปัจจุบัน ความเหงาอันเรื้อรัง ก็จะทำให้สมองของคุณปรับตัวเพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆนี้ แต่เนื่องจากสมองอันนี้กับมนุษย์ถ้ำเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ยังเป็นสมองที่ธรรมชาติให้มาอันเดียวกัน แทนที่มันจะปรับตัวด้วยการพยายามไม่สนไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันกลับปรับตัว ด้วยวิธีการเดียวกัน
โดยการทำให้คุณรู้สึกว่าคนรอบข้างตัวเป็นมิตรน้อยลง มีความเป็นศัตรูมากขึ้น มีความประสงค์ร้าย พร้อมจะทำร้ายคุณมากขึ้น สมองจะปรับตัวให้ไวต่อสิ่งกระตุ้นทางสังคมมากขึ้น ปรับตัวให้ไวต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากขึ้น ไวต่อ Social signal ต่างๆมากขึ้น เช่นสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงมากขึ้น แต่ “ความไว” นี้ก็เพื่อการอยู่รอด มันจึง “ไว” แต่ “แปรผล” สารต่างๆให้ไปในทางลบมากขึ้น (More Hostile) นั่นเอง
ดังนั้น ความเหงาเรื้อรัง จะทำให้คุณยิ่งใส่ใจความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น แต่มันทำให้คุณตีความแปลสารไปในทางลบมากขึ้น ยิ่งทำให้คุณระวังตัวในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทก์ ที่ทำให้คุณยิ่ง Disconnect กับคนอื่นๆ
แก้ปัญหาความเหงา เริ่มด้วยก้าวแรก
ความเหงานั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มา การยอมรับว่าคุณกำลังเหงา จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด
คุณต้องเข้าใจมัน และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ยอมรับว่ามันมีอยู่จริง มันเป็นธรรมชาติ ไม่ละเลยมัน ยอมรับว่าคุณต้องการ Social Bond ต้องการเป็นความรู้สึกเป็นกลุ่ม มันไม่ใช่เรื่องของคนอ่อนแอ ไม่ใช่เรื่องของคนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้
ธรรมชาติไม่ได้ออกแบบให้คุณเกิดมาเป็น “Lone Wolf” มันให้คุณเกิดมาเป็น “People”
ให้คุณลองสังเกตความคิดของตัวเอง สังเกต”อาการ”ของความเหงาเรื้อรัง
บ่อยไหมที่คุณมองโลกในแง่ร้ายเกินไป เวลาที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เวลาคุณตีความ Social signal ต่างๆ มันเป็นเรื่องลบจริงหรือไม่ หรือคุณคิดไปเอง คำพูดที่ออกมาจากปากคนอื่นนั้น เลวร้ายจริงๆไหม หรือเป็นคุณที่คิดไปเองว่ามันแย่ คุณคิดไปเองหรือไม่ว่าตัวเองนั้นไม่มีค่า ไม่เป็นที่ต้องการของคุณอื่น คุณคิดไปเองหรือไม่ที่รู้สึกว่าไม่มีใครหวังดีกับคุณ ไม่มีใครอยากคบกับคุณ
คุณกำลังลดความเจ็บปวด ด้วยการปิดตัวเองหรือไม่? เป็นคุณเองที่ปิดโอกาสในการเข้าสังคมหรือไม่? คุณให้โอกาสตัวเองได้หรือไม่ ?
เมื่อคุณเข้าใจ ก็เหลือแต่ต้องใช้ความกล้า ที่จะหยุดวงจรอุบาศก์นี้
References :
- Robin I.M. Dunbar, Richard Sosis,Optimising human community sizes,
Evolution and Human Behavior,Volume 39, Issue 1,2018, Pages 106-111,
ISSN 1090-5138,
https://doi.org/10.1016/j.evolhumbehav.2017.11.001. - Hawkley LC, Cacioppo JT. Loneliness matters: a theoretical and empirical review of consequences and mechanisms. Annals of behavioral medicine : a publication of the Society of Behavioral Medicine 2010;40(2):218-27.
- Vanhalst J, Gibb BE, Prinstein MJ. Lonely adolescents exhibit heightened sensitivity for facial cues of emotion. Cognition & emotion 2017;31(2):377-83.
- Cacioppo S, Bangee M, Balogh S, Cardenas-Iniguez C, Qualter P, Cacioppo JT. Loneliness and implicit attention to social threat: A high-performance electrical neuroimaging study. Cognitive neuroscience 2016;7(1-4):138-59.
- Vedantam, Shankar. 2015. New Research Finds Lonely People Have Superior Social Skills. NPR.org . 26 June. https://www.npr.org/2015/06/26/417840320/new-research-finds-lonely-people-have-superior-social-skills (Accessed 2019-11-05).
- Hammond, Claudia. 2018. Five myths about loneliness. BBC . 13 February. http://www.bbc.com/future/story/20180213-five-myths-about-loneliness (Accessed 2019-11-05)
- Latson, Jennifer. 2018. A Cure for Disconnection. Psychology Today . 7 March. https://www.psychologytoday.com/us/articles/201803/cure-disconnection (Accessed 2019-11-05)