รีวิวหนังสือ: มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ

มนุษย์ซึมเศร้า กับเรื่องเล่าสีขาวดำ รีวิว หนังสือ
ผู้เขียน : นายพินต้า
สำนักพิมพ์ : 13357
จำนวนหน้า : 224 หน้า
Genre : Memoir
ISBN : 9786169354413
พิมพ์ครั้งแรก : April 2020

มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ

6.5

เนื้อหา

6.0/10

การนำเสนอ

7.0/10

Pros

  • บอกเล่าประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา
  • สำนวนภาษาอ่านง่าย สวยงาม พรรณาความรู้สึกได้ดี รู้สึกถึงความหม่นหมองได้อย่างกินใจ

Cons

  • บรรยากาศหนังสือไม่ค่อยเป็นเนื้อเดียวกันเท่าใด ช่วงที่เป็น part ความรู้ ดูโดดๆไปหน่อย

Key Messages

  • โรคซึมเศร้านั้นเป็นความผิดของระบบสารสื่อประสาท ระยะสั้นมันทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง ระยะยาวมันทำให้สุขภาพสมองเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะส่วนเกี่ยวกับความจำ
  • ถ้ารู้สึกไม่สบาย จึงควรรีบไปหาหมอ ไม่ต้องไปสนว่าคนอื่นจะมองว่าบ้า หรืออ่อนแอ มันเป็นเรืองของเรา เป็นร่างกายของเรา อย่าให้ใครมาลดคุณค่า ถ้าปล่อยไว้นานมันยิ่งทำให้เราแย่ สมองยิ่งเสื่อมลง
  • ยาเป็นทางเลือกที่ดีในระยะแรก เพราะถึงคุยกับจิตแพทย์ดีแค่ไหน ออกมาเดี๋ยวอารมณ์ก็กลับไปเหมือนเดิม โลกยังคงหม่นเศร้า ยากินผ่านไปสองอาทิตย์ จะรู้สึกว่าโลกมีสีสันมากขึ้น
  • ระยะยาวนั้นการปรับพฤติกรรมสำคัญมาก  พยายามเข้าใจและเรียนรู้โลกด้วยมุมมองแบบใหม่ ปัญหาของใครก็ใหญ่ทั้งนั้น ปัญหาของใครของมัน ไม่ต้องไปคิดแทน ไม่ควรไปคิดว่า เครียดทำไมมีคนลำบากกว่าตั้งเยอะ สุดท้ายกระบวนการบำบัดจิตกับนักจิตก็ช่วยได้มากในตอนท้าย
  • ไม่สำคัญว่าคุณจะประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่พร้อมด้านวัตถุมากแค่ไหน ใครๆก็เป็นโรคซึมเศร้าได้ อย่าคิดแทนคนอื่น

The Perfectionist’s Dilemma

มองเผินๆ นี่อาจเป็นเพียงหนังสือบอกเล่าประสบการณ์ต่างๆของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเล่มหนึ่ง

แต่หากดูชื่อผู้เขียนแล้ว ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้มีความพิเศษ

เพราะผู้ป่วยซึมเศร้า ผู้ซึ่งเล่าเรื่องราวร้อยเรียงผ่านตัวอักษรในเล่มนี้ คือ “นายพินต้า” ซึ่งเป็นนามปากกาของคุณ “กิตติศักดิ์ คงคา” ชายผู้ซึ่งมีประวัติไม่ธรรมดา มุมมองของคนทั่วๆไป คงบอกได้อย่างเดียวว่า เขาคือคนที่ “โคตรเก่ง”

นั่นเพราะ

  1. เขาเป็นเจ้าของ “ลงทุนศาสตร์ – investerest” เพจที่มียอดlike เฉียดล้าน และ Podcast ในชื่อเดียวกัน ที่มีผู้ติดตามติดอันดับยอดนิยม
  2. เป็นเภสัชกร และเป็นเจ้าของบริษัท  “สมุนไพรคงคา Kongkaherb”
  3. เป็นนักลงทุน VI ผู้ประสบความสำเร็จล้นหลาม มีมูลค่า Port หุ้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และเป็นวิทยากรให้เหล่านักลงทุนมากมาย
  4. เป็นนักเขียน มีผลงานนิยายติดอันดับ มีผู้อ่านหลักล้าน และยังได้ถูกนำผลงานไปสร้างเป็นซีรี่ย์ยอดนิยม และมีสำนักพิมพ์ (ก็คือสำนักพิมพ์ 13357 นี้) เป็นของตัวเอง!

และยังมีความสำเร็จอื่นๆ ที่ชาตินี้คนธรรมดาทั่วไป (เช่นกระผม) คงไม่สามารถเอื้อมถึงได้ … ซึ่งความสำเร็จที่กล่าวมายังไม่หมดนี้ เขาทำมันสำเร็จได้ ภายในอายุ 30 ปี!!

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เริ่มจากวันหนึ่ง ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าไม่สามารถทนทานต่อสิ่งต่างๆได้อีกต่อไป และหมายจะปลิดชีวิตตน โดยการกระโดดจากชั้นตกสูง เพื่อปลดภาระอันหนักอึ้งทุกอย่างตลอดกาล แต่สิ่งนั้นเป็นความคิดเพียงชั่ววูบ สุดท้ายเสียงสติก็เตือนให้ผู้ป่วยกลับมา เตือนให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นจุดเริ่มต้นการรักษา “โรคซึมเศร้า” และบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่แรกจนหายดีของการผจญภัยในโลกซึมเศร้าของ “นายพินต้า” และเพื่อนๆของเขา

Dynamics ของหนังสือเล่มนี้ เปิดด้วยโลกเทาหม่นปนดำของนายพินต้าก่อนรับการรักษา จนกลายเป็นโลกขาวปนเทา 

เริ่มต้นหนังสือ หลักๆจะเป็นการบรรยายถึงความรู้สึกต่างๆที่อัดอั้นในในของนายพินต้า เป็นบทรำพึงรำพันของความรู้สึกมืดดำต่างๆ ซึ่งบรรยายได้ค่อนข้างเห็นภาพความสิ้นหวัง หดหู่ หม่นหมอง ให้ผู้อ่านได้ “ดื่มด่ำความดำดิ่ง” ของตัวเอกในเล่มได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ หลังจากนั้นก็จะเป็นส่วนที่บรรยายพรรรณาความรํู้สึกห้วงคำนึงนึกคิดได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่ ก่อน ระหว่าง และหลังจากหายโรคนี้แล้ว

ในช่วงหลังของหนังสือ จะเน้นไปบรรยายเรื่องราวชีวิตของเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็น Case-based Study ที่ยกเรื่องราวของต่างคนต่างกรรมต่างวาระ ต่างปัจจัยภายนอก ทำให้เห็นภาพ dynamic ของโรคซึมเศร้า และความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ต้องรักษาสารเคมีในสมอง ไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัดไปด้วยกัน

ส่วนน้อยของหนังสือเล่มนี้ จะเป็นการถามตอบประเด็นสำคัญต่างๆของโรคซึมเศร้า ให้ข้อมูลพื้นฐานของโรค ขั้นตอนการรักษาต่างๆ เป็นการสรุปข้อมูลควบคู่กับไปประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ซึ่งทำได้ดีมาก เพราะนายพินต้าเป็นนักเขียนเล่าเรื่องที่โคตรเก่งอยู่แล้ว

นี่จึงเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่น่าสนใจ ในโลกแห่งความซึมเศร้า อันคราคร่ำไปด้วยคนเศร้าซึม เป็นอีกหนึ่งเล่ม ที่บอกเล่าประสบการณ์จากผู้ประสบภัย อย่างตรงไปตรงมา

Opinion

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนังสือเล่มนี้ คือสารอันซื่อสัตย์

เรารู้แล้วว่าโรคซึมเศร้าเป็นของจริง มีอยู่จริง เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าคนผู้นั้นจะยากดีมีจนเพียงใด และเป็นความผิดมหันต์ หากจะยังมี mindset อยู่ว่าคุณไม่ควรซึมเศร้า เพราะคนมากมายในโลกนี้ยังลำบากกว่าคุณ นั่นเพราะโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ต่างกรรมต่างวาระ ความรู้สึกใครก็ความรู้สึกมัน ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตกัน แล้วใช้มันมาเป็นเกณฑ์วัดว่าซึมเศร้าได้น้อย ได้มาก

ที่บอกว่าเนื้อหาในเล่มนี้คือ ความซื่อสัตย์ ก็เพราะคนเขียนเองเล่าแบบไม่มีกั๊ก ว่าตัวเองมีพื้นฐานอย่างไร เติบโตมาด้วยโลกแบบไหน มุมมองอย่างไร มีความทุกเรื่องอะไร ปัจจัยอะไรที่ทำให้ดิ่ง (เช่น กำไรหุ้นหายไป 30 ล้าน – ย้ำว่ากำไร ไม่ใช่เงินต้น) ซึ่งมันทำให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนได้ดีขึ้น 

โลกของผู้เขียนคือโลกของ perfectionist คือโลกของคนที่ประสบความสำเร็จ โลกของคนที่หากเอามาตรวัดทางโลกวัตถุนิยมมาวัด ก็ย่อมได้คะแนนเกิน 100% ในทุกๆด้าน

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวอย่าง case study ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนนั้น มันช่างห่างไกลจากคนธรรมดาเหลือเกิน 

ผู้เขียนมีความรู้มากมาย มีความขยันมานะบากบั่น มีปัจจัยสี่เพรียบพร้อม เมื่อเขามีอาการ เขามี privilege มีเวลา ไปหาหมอชั้นนำรพ.เอกชน ไม่ต้องรอคิวนานๆ ไม่มีภาระหนี้สินอะไร ใช้วัตถุนิยมเข้าสู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับคนธรรมดา ชีวิตอาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราอาจไม่ได้มีเวลา เราต้องหาเลี้ยงชีพ เราต้องรอคิวรพ.รัฐบาล ที่หมอสั่งยาให้โดยไม่พูดกันสักคำ เพราะข้อจำกัดต่างๆ 

แต่มันก็ทำให้ตัวผมเอง หรืออาจจะหลายๆท่าน ที่เป็นเพียงปุถุชนธรรมดา เข้าใจถึงสัจธรรมโลกมากขึ้น ว่าขนาดคนที่เขามีทุกสิ่งทุกอย่างขนาดนี้ ก็ยังมีทุกเหลือทนได้ ยังรู้สึกทนไม่ไหว ยังต้องหาหมอ ยังต้องกินยา เราเองถ้ามีอาการ ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรที่จะทนโดดเดี่ยวกับมันเลย

สาส์นในเล่มนี้ จึงเป็นดั่งกำลังใจอันมหาศาล ให้คนที่รู้สึกว่าเริ่มมีอาการ หาญกล้าออกไปเผชิญกับมัน ยอมรับมัน รับการรักษา และจงมีความหวัง 

สรุปหนังสือ: มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ

บทที่ 1: ความจริงจากความสูง 69 เมตร

  • ผู้เขียนเปรียบตัวเองเป็นฟองน้ำสกปรกที่ซึมซับสิ่งต่างๆในแต่ละวัน ด้วยความเสียสละ แต่แล้ววันหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองซับสิ่งสกปรกมากเกินไป บ่มเป็นความเศร้า จนทนไม่ไหว รู้ตัวอีกทีชีวิตที่มีความสุขทุกวันก็หายไป ใบหน้ายิ้มแย้มไม่เหลือแล้ว มีแต่ความหม่นหมอง สิ้นหวัง จากชีวิตในแต่ละวันที่มีเป้าหมาย กลับกลายเป็นชีวิตที่ทำหน้าที่ไปวนๆ ว่างเปล่า และทบทวนความตายบ่อยขึ้น
  • เขาเปรียบชีวิตเหมือนการเข็นหินขึ้นเขา เราเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส แต่เมื่อถึงจุดหมายแล้ว ก็คือความว่า ยังไงต่อ และพบว่าข้างบนมันแสนจะว่าง แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องพยายามบรรลุสู่ยอดเขาที่ว่างปล่าวนั้นอย่างไม่สิ้นสุด เขาเหนื่อยมาก และอยากปล่อยวางมันเสีย อยากกระโดดตึกฆ่าตัวตาย รู้สึกทุกอย่างมันสูญสิ้นแล้ว ไม่เหลืออะไรในชีวิตแล้ว เคยสำเร็จ เคยมีแต่คนเข้าหา เคย proud แต่ตอนนี้ไม่เหลืออะไร
  • แต่ลึกๆในใจก็อยากมีความหวัง อยากมีชีวิต และไปรพ.เอกชน เพื่อพบจิตแพทย์ทันที

บทที่ 2: พบจิตแพทย์ครั้งที่ 2

  • พูดถึงการพบจิตย์แพทย์ที่ไม่ได้น่ากลัวแบบที่คิด เป็นคุณหมอใจดีที่รับฟัง เรื่องภาระต่างๆที่ผู้เขียนต้องแบกรับ เช่น เป็นเสาหลักของครอบครัว ดูแลธุรกิจ ดูแลทุกคน แต่หมอก็บอกให้เขาหยุดพักบ้าง ไม่งั้นถ้าไม่ไหวเสียเอง คนอื่นก็จะพังกันหมด อย่าสนใจคนอื่นจนลืมตัวดูแลตัวเอง คุยกับหมอครึ่งชม.

บทที่ 3: โลกในสายตาของผม

  • ผู้เขียนเกิดในครอบครัวยากจน พ่อแม่สร้างเนื้อสร้างตัวเองจากศูนย์ ปั้นธุรกิจจนสำเร็จระดับหนึ่ง แต่นั่นก็คือการที่ไม่มีเวลาให้ลูก ชีวิตเขาค่อนข้างโดดเดี่ยว เข้าหาสังคมไม่เก่งนัก มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน จึงมีหนังสือเป็นเพื่อนรักที่ดีที่สุด
  • เขาหล่อหลอมโตมาเป็นมนุษย์ที่คิดถึงผลลัพธ์เป็นหลัก มุ่งแต่เส้นชัย ไม่สนระหว่างทาง มองโลกแค่ขาวกับดำ ได้ไม่ได้ ถูกหรือผิด เมื่อผิดหวังแล้วจะด่าตัวเองแบบเจ็บปวด – perfectionist
  • แพทย์แนะนำให้เขากินยาช่วย รักษาโรคซึมเศร้า

บทที่ 4: ซึมเศร้าคือเฉดสี

  • อาการหรือภาวะซึมเศร้ามีตั้งแต่น้อยไปหามาก เป็นบ่อยๆ เป็นน้อยๆ ผู้เขียนให้คำนิยามส่วนตัวว่ามันคือ “ไม่มีความสุขทั้งที่ควรจะมีความสุข” ไม่มีความสุขในสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข หาความสุขอะไรในโลกไม่ได้ ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง มองโลกแง่ลบ อ่อนไหวง่าย ตรรกะแย่ลง หนีปัญหา ผัดวันประกันพุ่ง สมาธิลดลง อ่อนล้าลง ตัดชาดสังคม การงานแย่ลง และมีความคิดจะฆ่าตัวตายตลอดเวลา
  • และแนะนำว่าถ้ารู้สึกผิดปกติเมื่อไหร่ ก็รีบไปพบแพทย์ มันไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ได้พร้อมจะถูกมองเป็นโรค ไม่ใช่ไปปุ้ปถูกจับกินยาทันที

บทที่ 5: ลึกลงไปในรอยหยัก

  • กล่าวต่อถึงว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นความผิดของระบบสารสื่อประสาทด้วย ระยะสั้นมันทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง ระยะยาวมันทำให้สุขภาพสมองเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะส่วนเกี่ยวกับความจำ
  • ถ้ารู้สึกไม่สบาย จึงควรรีบไปหาหมอ ไม่ต้องไปสนว่าคนอื่นจะมองว่าบ้า หรืออ่อนแอ มันเป็นเรืองของเรา เป็นร่างกายของเรา อย่าให้ใครมาลดคุณค่า ถ้าปล่อยไว้นานมันยิ่งทำให้เราแย่ สมองยิ่งเสื่อมลง
  • โรคซึมเศร้ามีหลายสาเหตุ ปัจจัยภายนอกก็คือจากโลกและการมองโลก เช่น การพบเหตุการร้ายแรงสะเทือนใจ ส่วนการมองโลก เช่นตัวอย่างผู้เขียนที่โตมาด้วยแนวคิดเน้นมองผลลัพธ์ ทำให้กดดันมาก ทำดีแค่ไหน ถ้าไม่ถึงเป้า ก็พังทลาย ไม่สนระหว่างทาง ให้อภัยตัวเองได้ยาก
  • ปัจจัยภายในก็คือกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติทางสมอง เช่น เป็นลมชัก เป็นโรคเส้นเลือดในสมอง
  • การรักษานั้น ผู้เขียนแนะนำว่ายาเป็นทางเลือกที่ดีในระยะแรก เพราะถึงคุยกับจิตแพทย์ดีแค่ไหน ออกมาเดี๋ยวอารมณ์ก็กลับไปเหมือนเดิม โลกยังคงหม่นเศร้า ยากินผ่านไปสองอาทิตย์ จะรู้สึกว่าโลกมีสีสันมากขึ้น
  • ระยะยาวนั้นการปรับพฤติกรรมสำคัญมาก  พยายามเข้าใจและเรียนรู้โลกด้วยมุมมองแบบใหม่ ปัญหาของใครก็ใหญ่ทั้งนั้น ปัญหาของใครของมัน ไม่ต้องไปคิดแทน ไม่ควรไปคิดว่า เครียดทำไมมีคนลำบากกว่าตั้งเยอะ สุดท้ายกระบวนการบำบัดจิตกับนักจิตก็ช่วยได้มากในตอนท้าย

บทที่ 6: เริ่มจากยาเม็ดแรก

  • เนื่องจากกิจวัตรต่างๆที่เคยมีความสุขนั้นไม่ได้ผล ความฝันเมื่อนานมาแล้วที่เขาอยากเป็นนักเขียนก็กลับมา และพบว่าทำมันได้ดี สามารถเขียนงานได้อย่างมีสมาธิ มีสิ่งที่ช่วยเพิ่มความสุขและจดจ่อได้อีกครั้ง เป็นการหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงอย่างดี เขียนอย่างบ้าคลั่ง จนได้นิยายหนึ่งเรื่อง และมันได้กลายเป็นการเยียวยาชีวิต

บทที่ 7: เพื่อน(ไม่)ใหม่

  • โรคซึมเศร้าเป็นเพื่อนของเขา ไปไหนมาไหนด้วยกัน เขาตั้งกติกาว่าต้องหาหมอตามนัด กินยาเป็นหน้าที่ ไม่ขาดตก ฝึกจิตให้คิดแก้ปัญหาแบบไม่เอาใจไปจมกับมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ออกท่องเที่ยว หางานอดิเรกแบบจริงจัง มุ่งมั่นเป็นนักเขียนแบบเต็มที่ อาการสามเดือนแรกดีมากเรื่อยๆ จนดิ่งอีกครั้งในเดือนที่ 4

บทที่ 8: ดำดิ่งลงอีกครั้ง

  • เดือนที่สี่ ปัญหาต่างๆเริ่มมามากขึ้น ผู้เขียนมีปัญหากับแม่เรื่องกิจการบริษัท ทำเงินหาย 30 ล้าน จากการลงทุนในหุ้น และอกหัก ทำให้เขาเกลียดตัวเองมากๆ โทษตัวเองซ้ำไปมา ไร้ค่า ไม่มีประโยชน์พอให้ใครต้องการ และไม่อยากรักษาต่อ แต่แพทย์ก็ยืนยันว่ามันหายได้ ระหว่างรักษย่อมมีปัจจัยภายนอกมากระทบได้เสมอ

บทที่ 9: เรื่องเล่าเคล้าต๊อกป๊อกกิ

  • เล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียน ที่มีปัญหาภาระหนี้สินมากมายในครอบครัว จากแม่ที่ชอบไปเซ็นค้ำประกันให้คนอื่น และชอบสร้างหนี้นอกระบบก้อนใหญ่ไว้แบบไม่บอกใคร จนกว่ามันจะบานปลายไปไกลแล้ว จนสมาชิกในครอบครัวสิ้นหนี้ประดาตัว ขายบ้านขายรถมาโปะก็ยังไม่หมด เพื่อนของเขาอยู่ในภาวะสิ้นหวังอย่างมาก เขารู้ว่ามันมีภาวะซึมเศร้ากัดกินอยู่ด้วย เขาอาสาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเล็กน้อยๆ และพาเพื่อนไปพบจิตแพทย์

บทที่ 10: น้ำตาที่มาพร้อมกับกองหนี้

  • ยาทำให้เพื่อนของเขาดีขึ้นได้บ้าง ที่คล้ายกันคือช่วงแรกๆอารมณ์จะตื้อๆ ไม่ยินดียินร้ายกับอะไรมากนัก เห็นทางในสว่างชีวิตมากขึ้น และไม่อยากตายแล้ว แม้ปัญหาต่างๆยังแย่เหมือนเดิม อย่างน้อยมันยังมีแสงสว่าง

บทที่ 11: ความหวังในกลักฟิล์ม

  • เพื่อนของเขายังรักษาโรคซึมเศร้ากับแพทย์แผนปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอและมีวินัยเป็นเวลาปีเศษ ร่วมกับปัญหาหนี้นอกระบบก้อนใหญ่ก็ค่อยๆคลี่คลายลง เห็นทางออกมากขึ้น เพื่อนของเขาก็ซึมเศร้าลดลงมาก นึ่จึงสำคัญมากที่ต้องจัดการสิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายนอก เพราไม่งั้นรับยาไป ก็อาจไม่สามารถหายได้สนิท
  • และเพิ่อนของเขาก็หายจากโรคซึมเศร้าได้จริงๆ

บทที่ 12: เสียงว่าร้ายจากในเงามืด

  • เพื่อนอีกคนของผู้เขียน ก็มีอาการซึมเศร้าจากสิ่งแวดล้อมเป็นจุดเริ่มต้น คือต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ ทำงานที่บริเวณค่อนข้างชนบท แม้แต่สัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ไม่ดี เหมือนโดนตัดขาดจากโลกภายนอก อาการต่างๆแย่ลง มีความรู้สึกว่าโดนคนนินทาตลอดเวลา เวลาที่ได้ยินคนพูดกัน จะชอบคิดไปก่อนว่าตัวเองโดนนินทาอยู่ แม้รู้ว่าเขาอาจจะพูดเรื่องอื่นอยู่ แต่ห้ามความคิดตัวเองไม่ได้ รู้สึกเครียดไม่อยากเจอหน้าใคร กลัวทำให้คนนู้นคนนี้ไม่ถูกใจ กังวลไปหมด เขาจึงชวนเพื่อนมาพบจิตแพทย์ด้วยกันที่เมืองไทย

บทที่ 13: คำถามที่ต้องการคำตอบ

  • เพื่อนคนนี้ก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและได้เริ่มยา และโชคดีที่ที่ทำงานนั้นมีคนใหม่ๆ คนที่ toxic ออกไป ยาทำให้อารมณ์นิ่งขึ้น แต่ปัญหาทั้งหมดก็ยังไม่คลี่คลาย เพราะยังมีประเด็นเรื่องครอบครัว

บทที่ 14: โลกยังหมุนต่อไป

  • แม่ของเพื่อนคนดังกล่าวเป็นโรคจิตเภท ทำให้บุคลิกภาพและชุดความคิดต่างๆผิดเพี้ยนไปจากปกติ ทำให้แม่ต้องย้ายอยู่คนละจังหวัดกับพ่อ ไปอยู่กับญาติๆ และทำให้เพื่อนคนนั้นต้องกู้เงินซื้อบ้านใหม่ให้แม่ เกิดหนี้ก้อนใหญ่ติดตัว
  • ปัญหาหนี้นั้นเรื่องใหญ่และน่าจะอีกนาน จึงอาจต้องมาโฟกัสเรื่องงานก่อน ครั้งนี้ งานไม่สามารถเลิกทำได้ แม้ถ้าเลิกงานจะทำให้จิตใจดีขึ้นรวดเร็วแน่นนอน แต่ก็มีปัญหาเรื่องบ้านเรื่องหนี้อีก ภาพรวมจึงต้องรักษาใจให้ทำงานต่อไปไหว จึงอาจไม่ได้หยุดยาเร็วนัก เพราะก้โลกการงานไม่ได้ แต่เทียบกับวันแรกนั้น ทัศนคติต่อชีวิตก็ดีขึ้นมาก แววตาก็เปลี่ยนไปมาก มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น

บทที่ 15: พรหม (ไม่) ลิขิต

  • เพื่อนคนที่สาม มีภาวะซึมเศร้าและรักษากับหมอเอกชนมาสามปี แต่ละครั้งที่ไปหานั้นก็ได้คุยไม่เกิน 15 นาที และจ่ายยาคล้ายๆเดิม แถมยังบอกว่าให้ยาได้เต็มที่แล้ว ที่เหลือต้องช่วยตัวเองบ้าง หนำซ้ำพอจะลองเปลี่ยนหมอ หมอคนใหม่ก็ไล่กลับไปที่เดิม
  • ผู้เขียนจึงชวนเพื่อนคนนี้มารักษากับหมอประจำ ซึ่งได้ผลดีขึ้น หมอคนนี้รับฟังปัญหาอย่างดี ถามประวัติละเอียดมาก เป็นประกายความหวังแรกในรอบหลายปี

บทที่ 16: ปื้นชำเชือกปรากฏ

  • อย่างไรก็ตามเพื่อนคนนี้มีปัญหาหนักคือเรื่องแฟน ซึ่งจะดิ่งหนักมากทุกครั้งที่ทะเลาะ หมอจึงแนะนำให้หาสังคมที่กว้างขึ้น ไม่ผันผวน เปลี่ยนสังคม แต่ก็ยังทำไม่ได้มากนัก มีครั้งหนึ่งที่ดิ่งจนกินยานอนหลับเกินขนาด แต่นั่นก็เป็นแค่วันแย่ๆวันหนึ่ง ไม่ใช่ชีวิตแย่ๆ

บทที่ 17: อะไรอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง

  • เพื่อนคนที่สี่ มีปัญหานอนไม่หลับและสมาธิการทำงานลดลง โมโหง่ายขึ้นมาก จนปัญหาที่ทำงานชัดขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกเพื่อนคนนี้ลองไปรพ.รัฐบาล แต่คิวนัดยาวสามเดือน ผู้เขียนก็จึงชวนไปหาหมอคนเดียวกันกับเขา ซึ่งรอคิวแค่สามวัน
  • เพื่อนคนที่สี่นี้วินิจฉัยว่าเป็นโรค panic disorder คล้ายโรคซึมเศร้า แต่โรคนี้อาการกังวลนู่นนี่นั่นจะเด่นกว่า การรักษาคล้ายๆกันคือยาและปรับสิ่งแวดล้อม พอเพื่อนคนนี้ได้กินยา ช่วยให้หลับได้ดีและปรับอารมณ์ คุณภาพีวิตก็ดีขึ้น ฉุนเฉียวลดลง ทำงานได้มากขึ่น สดใสมากขึ้น

บทที่ 18: แด่เราผู้เว้าแหว่ง

  • เป็นบท FAQ ในประเด็นต่างๆของโรคซึมเศร้า เช่น จะรู้ได้ยังไงว่าเป็นโรคซึมเศร้า เป็นมากแค่ไหนควรไปพบแพทย์ ถ้าแพทย์บอกว่าเป็น แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็น ควรจะทำยังไง ควรไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลไหน ค่ารักษาเท่าไหร่ หมอรพ.รัฐกับเอกชนต่างกันมั้ย รู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่ควรจะเปลี่ยนหมอ

บทที่ 19: คำเอ่ยคำลา

  • ผ่านไป 1 ปี จิตแพทย์ก็บอกว่าผู้เขียนหายป่วยแล้ว เขาไม่ต้องกินยาแล้ว แต่หากสถานการอะไรๆย่ำแย่ลง ก็อาจกลับมาป่วยได้ ซึ่งก็แค่รักษาใหม่
  • การหายป่วยจากโรคซึมเศร้าให้ประสบการชีวิตกับผู้เขียนมากมาย เช่น มีความสุขได้ง่ายขึ้น เข้าใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น รับมือกับโลกได้มากขึ้น รับมือกับอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น ได้เป็นนักเขียนตามที่ตัวเองไฝ่ฝัน

บทที่ 20: ตัวคุณเป็นของคุณ

  • สุดท้ายหนังสือเล่มนี้ขอย้ำผู้อ่านว่า ถ้าไม่ไหว ก็ไปหาหมอเถอะ อย่าแบกมันไว้เลย
  • การรักษาซึมเศร้าไม่ง่าย แต่ผู้เขียนก็ย้ำว่าเขาเข้าใจมันดี และเขาเองหายมาได้แล้ว กลับมาเป็นคนเดิมได้แล้ว จงมีความหวัง โรคนี้หายได้ แม้บางครั้งอาจไม่สามารถจัดการตอปัญหาได้ แต่คุมอาการไว้ ก็ยังช่วยถนอมสมองของเราได้ เราอาจจะต้องรอนานหน่อย แต่ไม่ได้แปลว่าเราคนเดิมหรือคนใหม่ จะมาไม่ถึง

Share

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

รีวิวหนังสือล่าสุด

China Next Normal รีวิว หนังสือ
Social Science

รีวิวหนังสือ: China Next Normal – วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

จีนจะเป็นอย่างไรในยุคPost Corona เมื่อ COVID มาเร่งเวลาเข้าสู่ China Next Normal – วิกฤตินี้สร้างโอกาสให้จีนได้อย่างไร หาคำตอบได้ในเล่มครับ

post corona book review รีวิว
Social Science

รีวิวหนังสือ: Post Corona – From Crisis to Opportunity

โลก(อเมริกา) จะเป็นอย่างไรในยุค Post Corona – หนังสือที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงที่จะรวดเร็วและรุนแรง ผ่านมุมมองของศาสตราจารย์นักธุรกิจชั้นเซียน

บทความอื่นๆ

Solon's Warning คำเตือนของ โซลอน
Perspective

คำเตือนของโซลอน – Solon’s Warning

เมื่อพระเจ้าครีซัสผู้มั่งคั่งและทรงอำนาจที่สุดแห่งยุคตรัสถาม โซลอน ว่าเคยพบใครที่มีความสุขมากกว่าพระองค์หรือไม่ เขากลับตอบชื่อสามัญชนที่เสียชีวิตแล้วกลับมา!