รีวิวหนังสือ: China Next Normal – วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

China Next Normal รีวิว หนังสือ
ผู้เขียน : อาร์ม ตั้งนิรันดร
สำนักพิมพ์ : Bookscape
จำนวนหน้า : 184 หน้า
Genre : Social Science
ISBN : 9786168221464
พิมพ์ครั้งแรก : October 2020

China Next Normal - วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

7.5

เนื้อหา

7.0/10

การนำเสนอ

8.0/10

Pros

  • ให้ข้อมูลผลกระทบของโควิดต่อจีนในมิติต่างๆในอย่างครอบคลุม เข้าใจง่าย
  • อธิบายการเปลี่ยนผ่านสู่ Next normal ของจีนได้อย่างน่าสนใจ
  • เนื้อหากระชับ ไม่เยิ่นเย้อ อ่านสนุก

Cons

  • หากไม่นับ Part แรกที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิดนั้น Part อื่นๆก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่นัก เหมือนเป็นส่วนขยายของเล่ม China 5.0 หรือ จีน-เมริกา มากกว่า

Key Messages

  • โควิด วิกฤตและโอกาสของจีน : วิกฤติโควิดสะท้อนการให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและเชื่อมั่นของรัฐบาลกลาง  จากการสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นแบบเด็ดขาด เป็นโอกาสในการแสดงความเข้มแข็งของรัฐบาลกลาง (โยนโทษให้รัฐบาลท้องถิ่นไป) และเป็นโอกาสในเร่งการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคม Digital

  • หากสัญลักษณ์ของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐและโซเวียด คือ Space war, ตัวแทนของสงครามเย็นยุคใหม่นี้ อาจจะเป็น Vaccine War – วัคซีนอาจเป็นตัวแทนเกมการฑูตด้วย

  • จีนในเกมระเบียบโลกใหม่: สงครามเย็นระหว่างสองชาตินี้ จะไม่อยู่ในขั้นหักล้างกัน เพราะผลประโยชน์ระหว่างสองประเทศนั้นแยกขาดกันไม่ได้ ต่างกับยุคสหรัฐโซเวียต ที่ห่วงโซ่เศรษฐกิจแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง,  จีนจะลดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคงมาข้องเกี่ยว และจะเร่งผนวกเศรษฐกิจเข้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง (อเมริกายุคทรัมป์มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายโดดเดี่ยว แต่เมื่อเข้าสู่ยุคไบเดน ก็จะใช้การผนวกกับชาติพันธมิตรอื่นมากดดันจีนเช่นกัน)
  • จีนน่าจะอยากได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีต่อมากกว่า เพราะทรัมป์เน้นหวือหวา ไม่มีแผนระยะยาว แต่ไบเดนนั้นน่าจะเดินเกมแบบโอบามา คือหน้าฉากเป็นมิตร เบื้องหลังวางแผนตัดแข้งขา
  • เมื่อจีนก้าวสู่ Next Normal: รัฐบาลจะเน้นปลดปล่อยพลังการบริโภคในประเทศ ปรับโครงสร้างไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ลดการพึ่งพาภาคส่งออก เพิ่มการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ

The Post Corona of China

จากหนังสือ China 5.0 

“เพราะโลกยุคใหม่ไม่ใช่โลกของอังกฤษ สหรัฐ หรือเยอรมันนี แต่เป็น “โลกของจีน” โลกที่ ‘จีน’ เป็นวิชาบังคับ ไม่ใช่วิชาเลือกอีกต่อไป”

สู่หนังสือ จีน-เมริกา 

“โลกวันนี้ถึงจุดจบนำเดี่ยวของสหรัฐ  แต่ใม่ใช่จุดจบของสหรัฐ  ถึงจุดที่จีนผงาด แต่ไม่ได้นำเดี่ยวเช่นกัน …. สงครามเย็น 2.0 จะแตกโลกเป็นสองแกน และสองห่วงโซ่ “

มาคราวนี้ในหนังสือ  “China Next Normal”  ของอาจารย์ อาร์ม ตั้งนิรันดร  จะนำผู้อ่านไปทบทวนเหตุการณ์อีกครั้งว่าวิกฤติโควิด-19 อันเริ่มต้นที่ประเทศจีนนั้น จะกลายมาเป็นโอกาสที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ China 5.0 และ โลกสองแกน “จีน vs อเมริกา” ได้อย่างไร

เหนังสือ China Next Normal จะมี format คล้ายเล่มเดิมๆ คือเป็นการรวบรวมบทความต่างๆ ที่อ.อาร์ม เคยเขียนไว้ตามสื่อต่างๆ มาปรับปรุง เรียบเรียง จัดกลุ่ม ให้สอดคล้องกัน และทันสมัยมากขึ้น

เนื้อหาเล่มนี้จะแบ่งออกเป็น 3 Part หลัก  คือ

1.โควิด วิกฤตและโอกาสของจีน:

วิกฤติโควิดสะท้อนการความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างรัฐบาลจีน และสหรัฐ สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงอำนาจและความเข้มแข็งของรัฐบาล ในการบังคับใช้กฏระเบียบต่างๆในคราวที่จำเป็น และจีนจะใช้วิกฤติโรคระบาดนี้ มาเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ China 5.0 อันเป็นแผนการเดิมได้รวดเร็วขึ้นได้อย่างไร Cold war ยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว และมันเกี่ยวข้องกับ Vaccine อย่างไร

2. จีนในเกมระเบียบโลกใหม่:

ระเบียบโลกเดิมที่สหรัฐเป็นใหญ่มาหลายสิบปีนั้น กำลังจะเปลี่ยนไป จะเป็นแบบไร้ขั้วเสถียร ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร หรือแตกหักกันไปข้างแบบในยุคอเมริกาและโซเวียต? , Platform คืออะไร ทำไมทำให้ผู้เป็นเจ้าของคือผู้กุมอำนาจ และมุมมองจีนนั้น อยากได้ทรัมป์หรือไบเดนมาดำรงตำแหน่งต่อไป?

3. เมื่อจีนก้าวสู่ Next Normal:

เมื่อความฝัน 5.0 ใกล้เข้ามาแล้ว จีนจะเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบ Next Normal ได้อย่างไร ในทิศทางไหน? การเมืองจีนแบบ Next Normal จะมีรูปโฉมแบบใด?

Opinion

ถ้าเปรียบหนังสือ จีน-เมริกา เป็นคล้ายหนังสือ China 5.0 ภาค 2

หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็น China 5.0 ภาคพิเศษ ครับ

ก่อนจะอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าผู้อ่านต้องพอรู้เรื่องจีนมาก่อนบ้าง

เช่น รู้ว่าจีนมาถึงจุดนี้ได้ยังไง จีนมีอิทธิพลต่อโลกขนาดไหน ทำไมจีนถึงต้องเน้นพัฒนาเทคโนโลยี AIและ Big Data จะเป็นไพ่เด็ดของจีนได้ยังไง และอะไรคือแนวคิดโลกสองแกน อะไรคือแนวคิดทำไมที่ผ่านมาตาโดนัล ทรัมป์ออกมาขู่จีนแบบออกข่าวไม่เว้นวัน 

ไม่งั้นถ้ามาอ่านเล่มนี้โดยไม่มีค่อยรู้อะไรมาก่อนเลย เกรงว่าจะอ่านแล้วเข้าใจยาก และจะไม่สนุกครับ เพราะ COVID มันเร่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ก่อรูปร่างมาก่อนแล้ว ให้รวดเร็วเห็นภาพมากขึ้นนั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่า ง่ายสุด คือซื้อหนังสือ China 5.0 และ หนังสือ จีน-เมริกา  มาอ่านเพื่อ “ปูพื้นฐาน วิชาจีน + จีน-เมริกา” ก่อนนั่นเอง

แล้วพอมาอ่านหนังสือเล่มนี้ มันจะเป็นเหมือนการทบทวนเรื่องราวต่างๆจากสองเล่มก่อน ให้เราเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้นครับ 

อ่านจบแล้ว จะช่วยเปิดโลกการเมืองให้เราได้เห็นมุมมองต่างๆกว้างขึ้น 

ถ้าคุณชอบหนังสือ China 5.0 แล หนังสือ จีน-เมริกา  ต้องไม่พลาดเล่มนี้ครับ

สรุปหนังสือ: China Next Normal - วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

บทนำ หมดเวลากินบุญเก่า

  • ทัศนคติชาวจีนบางส่วนนั้นเชื่อว่า จีนกินบุญเก่าหมแล้ว และถูกซัดซ้ำด้วยสงครามการค้า วิกฤติฮ่องกง จนมาถึงโควิด
  • ทำไมถึงบอกว่ากินบุญเก่าหมด มีข้อสนับสนุนหลักสามข้อคือ
    • จีนไม่ใช่แหล่งแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ไม่ได้เป็นโรงงานของโลกแล้ว เพราะการยกระดับเศรษฐกิจอันรวดเร็ว และการใช้นโยบาลลูกคนเดียวมายาวนาน สัดส่วนวัยแรงงานของจีนค่อยๆลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ
    • กระแสต่อต้านการค้าเสรี ห่วงโซ่การผลิตของโลกตะวันตกถูกแยกออกไปจากจีน จีนไม่ได้เป็นที่ดึงดูดเงินทุนยอดนิยมเช่นเดิม
    • ช่วง subprime ที่แม้กำลังการบริโภคโลกตะวันตกจะหดลง แต่จีนใช้การลงทุนจากภาครัฐในประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ เกิดการก่อสร้างพัฒนาครั้งใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่เหลืออะไรมากให้สร้างเพิ่มแล้ว แถมหนี้ก้อนใหญ่ก็ยังเหลือ
  • โควิดมาตอกย้ำให้สภาวะกินบุญเก่านี้เป็นจริง และเร่งให้แย่ลงอีก เพราะมันทำให้กำลังบริโภคทั่วโลกลดลง แล้วเช่นนี้รัฐบาลจีนจะใช้วิธีใดมาพลิกฟื้นวิกฏติได้อีก จะหา new S curve ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ ภายใต้ระเบียบการเมืองระหว่างประเทศที่ผันผวน ได้อย่างไร?

โควิด วิกฤตและโอกาส

วิกฤติอู่ฮั่น เป็นคันฉ่องส่องสังคมจีน

  • 23/1/63 เป็นวันที่รัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น เมืองที่ประชากรกว่าสิบล้านคน เป็นวันที่รัฐบาลกลับลำแนวทางการสื่อสารกับประชาชนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า จากที่ว่ายังบอกว่าคุมได้ ไม่ร้ายแรง ไม่มีหลักฐานการเผยแพร่จากคนสู่คน กลายเป็นถูกสั่งปิดทั้งเมือง และยาแรงนี้ทำให้จีนคุมการระบาดได้ในต้นเดือนมีนาคม ความล้มเหลวในช่วงแรก และความสำเร็จในการคุมโรคระบาดภายหลัง สะท้อนลักษณะเด่นของสังคมจีนยุคปัจจุบันคือ
    • หนึ่ง รัฐบาลกลางมีอำนาจมหาศาลและเข็มแข็งมาก ซึ่งมันก็มีโทษ เพราะว่าทำให้รัฐบาลท้องถิ่นกลัวถูกรัฐบาลกลางเล่นงาน จนช้าไปในการควบคุมโรค แต่ข้อดีคือ รัฐบาลถึงเวลาเด็ดขาด ก็สั่งได้เลย ถ้าสมมติให้โควิดระบาดในประเทศอื่นก่อน คงยากที่จะกล้าสั่งปิดเมืองแบบจีน นอกจากนั้นรัฐบาลกลางยังสามารถระดมทุนและกำลังพลต่างๆมาช่วยเมืองได้เร็วมาก สื่อสารกับประชาชนได้ดี ฟลิกกระแสวิกฤติศรัทธามาเป็นพลังศรัทธา ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนรัฐบาลท้องถื่นยิ่งมีภาพติดลบมากขึ้นอีก
    • สอง เมื่อเทียบกับ SARS วิกฤติครั้งนี้เกิดเมื่อจีนเป็นสังคม 0 มี big data มีเทคโนโลยสมัยใหม่ช่วยวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา
    • สาม จีนดำเนินการแก้ปัญหาโดยใช้วิทยาศาสตร์นำ ไม่ใช่การเมือง ดังเช่นในกรณีปิดเมือง ที่โมเดลวิเคราะห์แล้วว่าจะคุมการระบาดได้ดีที่สุด ที่หากจีนเป็นสังคมประชาธิปไตย คงมีคนออกมาค้านมากมาย และมันทำให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่าเศรษฐกิจ เพราะหากการระบาดแพร่ทั่วประเทศ แม้เศรษฐกิจกระทบน้อยกว่าปิดประเทศ ก็คุ้มน้อยกว่าการที่ผู้คนเสียศรัทธาในรัฐบาลกลาง ต่างกับสหรัฐ ที่ประชาชนก็ยังยอมรับรัฐบาลอยู่ได้ แม้จะเห็นแล้วว่าล้มเหลวในการจัดการแค่ไหน

โรคกลับขั้ว

  • ต้นเดือนมีนาคม2020 จากที่การระบาดอยู่ในจีนเป็นหลัก มันก็เปลี่ยนทิศทางไประบาดหนักในโลกตะวันตก โดนเฉพาะสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว
  • ความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของสหรัฐคือ ไม่จัดให้มีการปูพรมตรวจเชื้อแต่แรก เมื่อคนติดเชื้อแต่อาการไม่หนัก ก็เลยแพร่เชื้อไปได้ทั่ว ต่างจากเกาหลีใต้ที่ปูพรมตรวจเชื้อทั่วประเทศ และใช้การกักตัวอย่างจริงจัง เมื่อล้มเหลวในการป้องกันการระบาดในช่วงแรก โรคระบาดพุ่งไปในจุดที่คุมได้ยาก
  • เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวจากการบริโภคภายในประเทศ แต่ต่างประเทศยังวุ่นวายต่ออีกหลายระลอก

อย่าให้โควิดสูญเปล่า

  • การจัดการวิกฤติโควิต มีมุมคิดอย่างน้อยสามมิติ
    • ป้องกันการระบาดให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
    • การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด ทั้งบุคคล ทั้งภาคการผลิต บริการ ท่องเที่ยว
    • การลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่ออนาคตหลังโควิต จะแปลงวิกฤติโควิตนี้เป็นโอกาสให้ได้อย่างไร
  • ซึ่งในจีนมีการพูดถึงอย่างน้อยสามเรื่องคือ
  1. ใช้โควิตเร่งการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมดิจิตัลและสังคมอัจฉริยะ เช่น เร่งการเก็บข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเมืองผ่าน cloud เร่งการใช้platformขายของออนไลน์ เร่งการใช้เทคโนโลยีการศึกษาและการแพทย์ (Health tech and education tech)
  2. ลงทุนเพื่ออนาคต หมดยุคการลงทุนสร้างสะพาน ทางรถไฟ สร้างถนนแล้ว ต่อไปต้องเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทาง digital , 5G เป็นต้น
  3. โควิดตอกย้ำภาคการส่งออกที่กำลังตกต่ำ และยิ่งเร่งให้จีนต้องปลดปล่อยพลังการบริโภคในประเทศ ยกระดับชนชั้นกลางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มตลาดผู้บริโภค นำคนมาเข่ารวมกับเศรษฐกิจเมือง

ถอดรหัสนโยบายรัฐบาลจีน

  • คำแถลงรายงานนโยบาลรัฐบาลของหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ประจำปี 2020 มีสาระสำคัญอยู่ที่ว่าปีนี้ไม่ได้พูดถึงอะไรบ้าง (เทียบกับที่ปกติจะพูดถึงทุกปี)
  • สิ่งแรกที่หายไปคือเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ปกติจะเป็นตัวเลขเติบโต 6% ปรากฏว่าปีนี้ รัฐบาลจีนไม่ตั้งเป้า เพราะความไม่แน่นอนต่างๆ แต่ปีนี้จะให้ความสนใจกับการจ้างงงานมากกว่า
  • สิ่งที่สองคือ การให้ความสำคัญกับการลงทุนใน infrastructure มีนักวิเคราะห์บอกว่ามูลค่าการะกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้ จะน้อยกว่าช่วง suprime ถึง 10 เท่า ต่างกับแนวโน้มประเทศอื่นๆ ที่เยอะกว่ามาก สาเหตุเพราะจีนยังกังวลเรื่องปัญหาหนี้ที่สะสมมาตั้งแต่ตอนนั้น มองว่าไม่ตอบโจทย์การลดลงของการจ้างงานในภาคบริการ มองว่ายังรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้
  • ไม่มีการพูดถึงนะโยบายต่างประเทศ เป็นสัญญาณว่าจีนจะจัดการเรื่องในประเทศเป็นฆลัก จะต้องอยู่ให้ได้ด้วยการพึ่งพาตลาดภายในประเทศของตน
  • สัญญาณนโยบายต่อจีนและไต้หวัน ที่มีท่าทีดุดันมากขึ้น ตอบรับกระแสชาตินิยมในจีน

ธุรกิจจีนรับมือโควิตอย่างไร

  • โควิดจะเป็นหนังม้วนยาว ไม่ใช่เจ็บแต่จบ ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องปรับมุมคิด ไม่ใช่แค่ทำยังไงจะรอดในช่วงสั้นๆ แต่ต้องปรับตัวกับวิถีใหม่ของผู้คน เช่น
  • สร้างกลุ่มพันธมิตรและถ่ายโอนแรงงาน: หากเกิดการตกงานมหาศาลจากการเลิกจ้าง ก็ย่อมนำมาซึ่งวิกฤติทางสังคม มีแนวคิดการยืมแรงงานระห่วางธุรกิจ เช่น Alibaba ยืมแรงงานจากพันธมิตรในภาคธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม มาช่วยใน Hema market ของอาลีบาบา
  • ปรับตัวเข้าสู่การขายและทำการตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบ: ธุรกิจจำนวนมากในจีน ได้ปรับตัวอย่างสมบูรณ์มาขายและทำการตลอดออนไลน์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของภาวะวิกฤติ เช่น ให้พนักงานหน้าร้านเครื่องสำอางผันตัวมาเป็นคนทำโฆษณาผลิตภันฑ์และเผยแพร่ใน social media, ให้พนักงานทำธุรกิจการตลอดออนไลกับกลุ่มเพื่อนใน social media และจัดยอดแข่งขันกัน
  • ใช้เวลานี้อบรมทักษะใหม่และการวางแผนกลยุทธ์หลังวิกฤติ: เช่น รื้อระบบภายในบริษัทใหม่ทั้งหมด ให้พนักงงานเข้าคอร์สออนไลน์เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ๆ
  • ปรับบริการให้ตอบโจทย์สุขภาพ การอยู่บ้าน และการเรียนออนไลน์: ผู้บริโภคจะต้องการความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และความปลอดภัยของสินค้า พฤติกรรมการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนมาอยู่บ้านและทำงานที่บ้านมากขึ้น

ศึกชิงวัคซีน

  • ศึกวัคซีนระหว่างจีนและอเมริกานี้ ใครคิดมันได้ก่อน ย่อมสร้างความมั่นใจและฟื้นเศรษฐกิจภายในได้ก่อน และมีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้นในเวทีโลก เดินเกมการทูตวัคซีน และเป็นผู้นำโลกอย่างเต็มตัว – สัญลักษณ์สงครามเย็นของสหรัฐและโซเวียตคือ space war , การแข่งขันยกแรกของสงครามเย็นยุคใหม่นี้ ก็คงเป็น vaccine war
  • แต่vaccine war นี้ซับซ้อนกว่ามาก มีความไม่แน่นอนหลายอย่าง
  • ขั้นตอนต่างๆในการผลิตวัคซีนถูกย่นระยะเวลาจากมาตรฐานไปอย่างมาก เกิดข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยมากมาย
  • เราไม่มีทางแน่ใจ 100% ว่าวัคซีนที่ออกมาจะไม่มีผลลบต่อร่างกายในระยะยาว
  • ถ้าจีนคิดวัคซีนได้ก่อน เราจะกล้าฉีดไหม ถ้ามีกระแสมาว่ามันเป็นคุณภาพไม่ดี ถ้าคิดได้พร้อมๆกันทั้งคู่ เราจะเลือกฉีดของใคร หรือเราจะดูตามราคาที่จ่ายไหว การเลือกของเราจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่
  • วัคซีนอาจจะกลายเป็นแบบไข้หวัดใหญ่ คือต้องฉีดไปทุกๆปี เพราะเชื้อมันกลายพันธ์ได้เร็ว
  • และแน่นอนว่าถึงจะทำวัคซีนมาได้ ยังไงก็ไม่มีให้ใช้ในไทยในเร็ววันนี้ เพราะเมื่อคิดเสร็จแล้ว ก็ต้องผ่านกระบวนการการผลิต มีคนจีน 1400 ล้านคน คนเมกา 320 ล้านคน ที่มีสิทธ์ได้ก่อน กว่าวัคซีนจะไปทั่วโลกได้ ต้องใช้เวลาอีกมากมายแค่ไหน?

มนุษย์โควิค- มนุษย์อโควิด

  • มีการเสนอให้แยกคนป่วยหายแล้วและมีภูมิ ออกจากคนที่ยังไม่เคยป่วย นั่นแปลว่าคนที่มีภูมิแล้ว ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มคนที่มีใบรับรองว่าเป็น “มนุษย์อโควิด” เป็นใบรับรองว่าสามารถเดินทางข้ามประเทศ ทำงานที่ต้องเจอผู้คนเยอะๆได้ ซึ่งก็นำมาซึ่งประเด็นทางจริยธรรมว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะคนที่ไม่มีภูมิจะถูกจำกัดเสรีภาพมากกว่า อาจเป็นปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัต เช่นเดียวกันกับการดูจากสีผิว ความเชื่อทางศาสนา เพศเป็นต้น
  • ถ้าการระบาดยังยืดยาว ก็จะมีประเทศที่คุมการระบาดได้ และคุมไม่อยู่ อาจเห็นโลกแบ่งเป็นสองขั้ว คือ กลุ่มประเทศโควิด และอโควิด กลุ่มประเทศอย่างหลังอาจเปิดเสรีเดินทางค้าขายกัน หรือถึงขั้นเป็นกลุ่มการค้าเสรีระหว่างประเทศอโควิดกันเลยที่เดียว?
  • จะเห็นว่า โควิดพร้อมแบ่งแยกผู้คนบนโลกเป็นคนสองกลุ่มโดยปริยาย เราต้องอย่าลืมว่ามันคือภัยของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่สร้างกำแพงมาทอดทิ้งกัน

จีนในเกมระเบียบโลกใหม่

ระเบียบโลกแบบหยินหยาง

  • คนจีนมองโลกแบบหยินหยาง ภูมิปัญญาจีนสามารถลื่นไหลไปกับความซับซ้อนของโลก หาจุดสมดุลระหว่างขั้วที่ขัดแย้งกัน เช่น จีนเป็นทั้งสังคมนิยมและทุนนิยม 
  • ระเบียบโลกหลังโควิด จะเป็นแบบหยินหบาง คือซับซ้อน ไม่เสถียร มีการถ่วงอำนาจกัน จากเดิมที่เมกาเป็นผู้นำเดี่ยว มีกลไกกฎหมายระหว่างประเทศชัดเจน เสถียร คาดเดาได้ แต่บัดนี้ ระเบียบโลกเดิมดูเปราะบางมาก องค์กร UN, IMF ธนาคารโลกประสบปัญหา WHO ไม่ได้รับความนับถือแม้ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด
  • โควิดทำให้สหรัฐเจอวิกฤติสาธารสุขขั้นหายนะ กระทบทุกๆด้าน จนพลังค่อยๆตกต่ำลง ส่วนจีนก็ทะยานช้าลง เพราะภาพลักษณ์ทีแย่ลงในวงการระหว่างประเทศ
  • สถานการณ์โลกอาจจะคล้ายกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งอังกฤษกำลังค่อยๆเสียอำนาจไป ส่วนสหรัฐก็ยังอยู่ในขาขึ้น แต่ก็ยังไม่พร้อมมานำแทนอังกฤษ
  • ปัจจุบันนี้เทรนผู้นำเดี่ยวก็กำลังสิ้นสุดลง แต่ตัวจีนเองก็ยังไม่พร้อมจะสวมบทใหม่ เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจและระเบียบโลก
  • สงครามเย็นระหว่างสองชาตินี้ จะไม่อยู่ในขั้นหักล้างกัน เพราะผลประโยชน์ระหว่างสองประเทศนั้นแยกขาดกันไม่ได้ ต่างกับยุคสหรัฐโซเวียต ที่ห่วงโซ่เศรษฐกิจแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง โซเวียดย่อยยับไป ก็ไม่กระทบอะไรกับอเมริกา แต่ถ้าตอนนี้จีนมีปัญหา เศรษฐกิจโลกก็พลอยดิ่งตามไปด้วย
  • โลกจะเป็นสภาพแบบ ยุคไร้ขั้วเสถียร (Non-polarity) ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ไม่ว่าจะเป็น EU, อินเดีย รัสเซีย ญี่ปุ่น
  • กระแสโลกแบบนี้ ทำให้การรวมกลุ่มอาเซียนในระดับสูงกว่า ยิ่งเป็นไปได้ยาก ดังที่เห็นในกรณีของ Brexit และการคุมโลกระบาดรหว่างประเทศต่างๆใน EU แต่อาเซียนก็ต้องหาสมดุลการผลึกกำลังให้ได้ คือ สร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น แต่ก็มีอิสระในแต่ละประเทศพอให้ดำเนินนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจได้เอง
  • หมดยุคมองโลกหรือมหาอำนาจแบบขาวกับดำแล้ว อย่าเห็นว่าไทยต้องเลือกข้าง โจทย์คือไทยจะเล่นตัวและเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์นี้อย่างมีชั้นเชิง ได้อย่างไร

ข้อตกลง phase I พักรบสงครามการค้า

  • มกรา 2020 มีการลงนามข้อตกลงการค้า phase I โดยที่สหรัฐยอมยกเลิกการขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ ในสินค้ามูลค่า 160,000 usd และภาษีจากเดิม 15 เป็น5% สำหรับสินค้ามูลค่า 120,000 usd โดยจีนยอมจะซื้อสินค้าจากสหรัฐไม่น้อยกว่า 200,000 usd ในเวลาสองปีต่อจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าการเกษตร และยังตกลงที่จะแก้กฎหมายบังคับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกเลิกนโยบายส่งเสริมให้บริษัทจีนบุกซื้อบริษัทเทคโนในสหรัฐ และเลิกใช้นโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้า
  • ข้อสังเกตคือ ดีลนี้อาจจะดูดีเกินจริง เป็นไว้สำหรับTrump หาเสียง เพราะมันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเกษตรกรที่เป็นเหล่าฐานเสียงของ Trump
  • ข้อตกลง phase I จึงอาจเป็นแค่การพักรบชั่วคราว ที่สำคัญคือหัวข้อใหญ่ ซึ่งคือการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและเอกชนของรัฐบาลจีน ที่ยังไม่มีการพูดถึง

ทรัมป์กับสงครามสามเป้า

  • สงครามการค้าระหว่างสองประเทศนี้ คงไม่จบง่ายๆ อาจมีพักรบบ้างเมื่อเจอภัยร้ายแรงร่วมกัน ซึ่งก็ตรงกับช่วงโควิตระบาดพอดี
  • แต่ดันกลายเป็นว่า โควิดทำให้สองชาตินี้ขัดแย้งรุนแรงกันมากขึ้น เพราะทรัมป์ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรับมือกับมัน ทำให้ จีน ยิ่งกลายเป็นแพะรับบาปชั้นดี กระแสเศรษฐกิจโตที่วางไว้ก่อนเลือกตั้งนั้นพังทลายลง จึงต้องมาโหมกระแสชาตินิยมเต็มที่
  • ซึ่งคราวนี้เศรษฐกิจสหรัฐโดนเต็มๆ จะเล่น trade war กันแบบเปิดหน้าสู้กับจีนก็ไม่ได้แล้ว กลายเป็นทรัมป์ก่อสงครามแบบมุ่งเป้าเจาะจงแทน ผู้เขียนเรียกว่าสงครามสามเป้า
    • เป้าแรก สงครามการค้าต่อบริษัทเทคโนโลยีของจีน เช่น TikTok, Tencent ,Huawei และบริษัทอื่นๆ โดยมุ่งประเด็นไปที่ความมั่นคงของชาติ
    • เป้าสอง สงครามจิตวิทยากับประเด็นละเอียดอ่อนซึ่งเน้นเกี่ยวกับอธิปไตยของจีน นั่นคือ ฮ่องกง ไต้หวัน และทะเลจีนใต้
    • เป้าสาม สงครามน้ำลายต่อพรรคคอมมิวนิสจีน จากที่ผ่านมาสหรัฐแกล้งๆลืมว่าจีนเป็นคอมมิวนิสมาก่อน เพื่อจะได้ค้าชายได้คล่องๆ สมัยทรัมป์ก็กลับมาเรียกจีนเป็นคอมมิวนิส เรียกประธานาธิปดีสี เป็นเลขาธิการสีจิ้นผิง เพื่อปลุกเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง ปิดสถานกงสุลจีนที่เท็กซัส ด้วยข้ออ้างว่ามีการลักลอบเอาเทคโนโลยีสหรัฐออกไปใช้
  • ในอนาคตนั้น ไม่ว่าทรัมป์จะได้ดำรงตำแหน่งต่อหรือไม่ ก็น่าสนใจว่ากระแสต่อต้านจีนที่ถูกจัดขึ้นมานั้น จะดำเนินอย่างไรต่อไป

ใครเป็นเจ้าพ่อแพลตฟอร์ม

  • ในปี 2000, Bill Clinton กล่าวไว้ว่า การที่จีนพยายามคุมอินเตอร์เน็ตไว้นั้น เป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์ เพราะสุดท้ายอินเตอร์เน็ตจะนำแนวคิดเสรีภาพและประชาธิปไตยสู่ประเทศจีน แต่ตอนนี้เราเห็นได้ว่า จีนทำได้จริง
  • จีนมองแล้วว่าอินเตอร์เน็ตเป็นภัยความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิส จึงไม่เปิดรับ platform ต่างชาติ มีแต่platform ที่จีนทำขึ้นมาเอง และสามารถควบคุมมันได้
  • เจ้าของ platform คือเจ้าของอำนาจ
  • Platform ในที่นี้ ใช้สื่อถึงตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ แบ่งplatform ออกเป็นสี่ด้านคือ
    • หนึ่ง แพลตฟอร์มองกรณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ นั่นคือ WTO, IMF และ World Bank ทั้งสามนี้อยู่ใต้การนำของอเมริกาและชาวตะวันตก
    • สอง แพลตฟอร์มการเงินระหว่างประเทศ นั่นคือ USD ที่เป็นเงินสกุลหลักของโลก
    • สาม platform ข่าวสารระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ใต้การนำของโลกตะวันตก
    • สี่ platform internet และ การสื่อสารไร้สาร นั่นคือ social media และ 4G
  • ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในเชิง platform ข้างต้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว รู้ตัวอีกที หลายๆประเทศอยู่ใต้แพลตฟอร์มจีนแล้ว เช่น
    • Belt and road initiative ที่มาแข่งกับ platform 1
    • เงินหยวนดิจิตัลใน platform 2
    • สำนักข่าวซินหัว ใน platform 3
    • Tiktok , 5G ของจีน ใน platform 4
  • ข้อมูลของเรานั้นล้วนไหลผ่านอยู่ในแพลตฟอร์ม และเจ้าของมันสามารถเอาข้อมูลต่างๆไปหาประโยชน์ได้ มันจึงมีเรื่องความมั่นคงมาเกี่ยวข้อง และมองมุมนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่ทรัมป์ออกมาประกาศจำกัดการทำธุรกิจต่างๆของจีน
  • ยี่สิบปีผ่านมา จากที่จีนเริ่มแบนแพลตฟอร์มอเมิรกา ตอนนี้โลกเสรีก็ต้องคุมเข้มแพลตฟอร์มจีนแล้ว แต่จะทำได้สำเร็จหรือไม่?

การค้าสามผสม

  • ฝั่งจีนคืดอย่างไร อยากแยกวงออกจาสหรัฐด้วยหรือไม่ หรืออยากเป็นคู่ค้าใกล้ชิดกันเหมือนเดิม?
  • จีนมองว่าข้อดีคือ มันทำให้จีนพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพราะการเคลื่อนย้ายทุนจากสหรัฐมาเข้าจีน และการเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้จีนมีอำนาจการต่อรองมากขึ้นในเวทีโลก แต่ข้อเสียคือ สหรัฐก็มีอำนาจต่อรองกับจีนมาก และอาจถึงขั้นบีบให้จีนพังพินาศได้ (หลายคนมองว่าสายไปแล้ว)
  • สหรัฐเลือกเดินทางแตกห่วงโซ่ (The Great decoupling) อย่างชัดเจน โควิดมาทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เร็วขึ้น (บริษัทสหรัฐย้ายฐานการผลิตออกจากจีนได้รวดเร็วขึ้น เพราะยังไงระยะสั้นนี้ก็ไม่ดีอยู่แล้ว) ส่วนจีนเลือกทางเลือกที่ซับซ้อนกว่า ผู้เขียนเรียกมันว่า “ยุทธศาสตร์การค้าสามผสม”
    • หนึ่ง เร่งการเชื่อมโยงกับสหรัฐในภาคเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะยังไงมันก็ช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจ
    • สอง ลดการเชื่อมโยงในบางอุตสาหกรรม และพยายามพึ่งตัวเองให้ได้ เช่นในพวกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฐานราก เช่นพวกบริษัทผลิตชิป และเน้นการบริโภคในประเทศ
    • สาม เร่งผนวกเศรษฐกิจเข้ากับประเทศอื่น นอกเหนือจากสหรัฐ สร้างพลังต่อรองกับประเทศอื่นๆ โดยอาศัยการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สร้างห่วงโซ่จีน แข่งกับ ห่วงโซ่สหรัฐ และโดดเดี่ยวสหรัฐมากยิ่งขึ้น
  • มีผู้เชี่ยวชาญมองว่า โลกหลังโควิดนั้น นานาชาติอาจต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น เพราะจีนคุมสถานการณ์ได้เร็ว เศรษฐกิจก็ฟื้นคืนได้เร็วกว่าชาติอื่น

ฮ่องกงในเกมศึกจีน-สหรัฐ

  • ทำไมจีนจึงกล้าออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับใช้ในฮ่องกง?
  • สิ่งนี้สะท้อนว่าจีนให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของชาติ เหนือกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้มันจะทำให้สหรัฐออกมาประกาศพิจารณาเพิกถอนสถานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง ผลก็ตกอยู่กับจีนอย่างจำกัด เพราะมีสินค้าจีนแค่ 8% ที่ส่งออกไปสหรัฐผ่านทางฮ่องกง และเศรษฐกิจจีนพึ่งพาฮ่องกงน้อยมากแล้ว จาก 18% เหลือเพียง 3% ของ GDP จีน
  • แม้สหรัฐอาจมีไพ่ตาย คือการประกาศตัดฮ่องกงออกจากระบบสกุลเงินดอลล่าสหรัฐ ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถนำเงินดอลล่ามาลงทุนในตลาดทุนฮ่องกงได้ ซึ่งส่งผลต่อบริษัทจีนแน่ๆ เพราะบริษัทจีนชอบมาระดมในตลาดทุนฮ่องกง แต่ผลปัญหาคือมันอาจเสี่ยงสูงและวกกลับมาทำร้ายสหรัฐ เพราะนักลงทุนอาจเลือกใช้เงินสกุลอื่นแทน ถ้าเขาสนใจลงทุนในจีนจริงๆ และทำให้USDลดความสำคัญไป
  • หากฮ่องกงสิ้นสถานะศูนย์กลางทางการเงินเอเชียไป ผลก็เข้าทางจีนอยู่ดี เพราะยิ่งเป็นการเร่งกดดันให้เศรษฐกิจฮ่องกงมาพึ่งพิงจีนมากขึ้น

จีนอยากได้ทรัมป์หรือไบเดน

  • แม้ทรัมป์จะดูเป็นคนบ้าระห่ำ พร้อมชน แต่จีนอาจอยากได้ทรัมป์เป็นประธานาธิปดีอีกสมัย เพราะการรับมือกับไบเดน น่าจะยากกว่ามาก
  • ทรัมป์ทำให้จีนกระทบเสียหายหนักในระยะสั้นๆ แต่ระยะยาวก็ไม่ได้มีแผนเชิงระบบอะไร มันไม่ได้มีการสร้างรากฐานเพื่อความแข็งแกร่งระยะยาวอะไรของสหรัฐ และดูจะหาเรื่องไปทั่ว โดดเดี่ยวสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ จีนจึงแค่ทนเจ็บไปให้ได้ รอคว้าชัยในระยะยาว
  • ไบเดน อาจดำเนินนโยบายที่เสถียรและคาดเดาได้ง่ายขึ้น ดูปกติกว่า จะกลับมาสร้างพันธมิตมากขึ้น แนวโน้มสูงจะรื้อฟื้น TPP ของ Obama ที่ถูกปัดตกไป เพื่อสร้างพันธมิตรการค้ามาปิดล้อมจีน
  • ที่สำคัญ ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนดูเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้นเรื่องซินเจียงและฮ่องกง จะเป็นประเด็นร้อนที่ถูกยกมาโจมตีจีนในเวทีโลก
  • ไบเดนจะเดินเกมเหมือนสมัยโอบามา คือหน้าฉากดูเป็นมิตร แต่เบื้องหลังก็วางแผนตัดแข้งตัดขากัน ซึ่งไบเดนน่าจะดุดันยิ่งขึ้น

เมื่อจีนก้าวสู่ Next Normal

เปิดหกเทรนด์โครงสร้างประชากรจีน

  • จีนกำลังเข้าสู่ภาวะประชากรหด โดยเทรนโครงสร้างประชากรคือ
    • หนึ่ง ประชากรวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ คาดว่าปี 2050 แรงงานจีนจะหายไป 200 ล้านคน
    • สอง สัดส่วนของประชากรเกษียณต่อวัยทำงานสูงขึ้น
    • สาม อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นช้า แม้จะใช้นโยบายลูกสองคนแทนแล้ว เพราะคนจีนยุคใหม่ไม่กล้ามีลูก
    • สี่ เดินหน้าเข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุ
    • ห้า ประชากรส่วนใหญ่จะอาศัยในเมือง คาดว่าปี 2050 จะสูงถึง 80%
    • หก ระยะยาว ประชากรจีนจะลงลง โดยจะ peak ที่ปี 2029 แล้วหลังจากนั้นจะลดลงต่อเนื่อง
  • แม้เทรนนี้จะเกิดมานานแล้วในประเทศพัฒนา แต่สิ่งที่จีนเจอนั้นคือ แก่ก่อนรวย เพราะมี GDP จะใหญ่อันดับสองของโลก แต่แง่ GDP ต่อหัว ก็ยังน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก
  • ปัญหาแก่ก่อนรวยนี้จึงเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางรับมือ ในระยะยาว

พื้นบุญและบุญใหม่ของจีน

  • จีนมีวาสนาสองข้อที่เป็นคุณต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ
    • หนึ่งคือตลาดประชากรขนาดใหญ่
    • สอง คือการผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากที่สุดในโลก
  • ในข้อสองนี้ เป็นผลจากที่ค่านิยมวิทยาศาสตร์สร้างชาติ อันเป็นผลจากความอัปยศเมื่อคราวที่แพ้ให้ชาติตะวันตกในสมัยราชวงศ์ชิงที่จีนยังล้าหลังมาก ซึ่งแม้จริงอยู่ที่คนเก่งๆในวงการนั้นกระจุกอยู่ในโลกตะวันตก แต่คนกลางๆที่ได้มาตรฐานนั้น จีนมีมากสุด
  • ข้อดีสองข้อนี้ ทำให้จีนได้เปรียบในยุค 0 ไป 5.0 ที่ทำให้จีนสร้างข้อมูลได้มากกว่าใคร และมีแรงงานทักษะทีสามารถเอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้ (ไม่ใช่การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ) ยิ่งมีความเป็นดิจิตัลมากเท่าไหร่ ก็จะ generate ข้อมูลมหาศาล เป็นเชื้อเพลิงอันดีสำหรับ AI
  • ในยุคที่บุญเก่าของจีนค่อยๆเสื่อมแล้ว นี่จึงเป็นหนทางเดียวเท่านั้นในการไปต่อ

ปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีน

  • ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ได้ประกาศผลสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจในปี 2019 และพบเทรนการปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีนหลักสี่ประการคือ
    • หนึ่ง จีนกำลังปรับโครงสร้างไปสู่ภาคบริการมากขึ้น และแซงหน้าอุตสาหกรรรมและการเกษตรไปแล้ว เป็นผลดีในการรองรับแรงงาน เพิ่มการบริโภคในประเทศ และกระจายรายได้ได้ดี เกิดชนชั้นกลางได้มากขึ้น
    • สอง สัดส่วนเศรษฐกิจภาคกลางและตะวันตกเติบโตดีขึ้น จากเดิมที่เน้นแต่ภาคตะวันออก
    • สาม บริษัทนิติบุคคลคนเดียวมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีต้นทุนและความคล่องตัวดีกว่า เทียบกับบริษัทแบบทั่วไป
    • สี่ งบ R&D ในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น 75% คำร้องขอสิทธิบัตรเติบโตขึ้น 85%

ทำไมคนจีนไม่บริโภค

  • แม้ตลาดจีนจะมหาศาล แต่คนจีนจับจ่ายใช้สอยกันน้อยกว่าที่คิดมาก เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลจีน
  • รัฐบาลจีนจึงใช้ยุทธศาสตร์ว่า ถึงเวลาปลดปล่อยพลังการบริโภคลูกใหม่ จากที่เน้นส่งออกและการลงทุน ต้องมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากกว่านี้ ยิ่งมีเรื่องสงครามการค้าและโควิดมาเร่ง
  • ก่อนหน้านั้น จีนโตเร็วมาก เพราะการส่งออก และการลงทุนในประเทศ แต่สัดส่วนการลงทุนในประเทศนั้นอยู่แค่ 40% ของ GDP เทียบกับต่างชาติ ที่คิดเป็น 60-70% GDP
  • สาเหตุที่คนจีนยังไม่ค่อยจับจ่ายนั้น มาจาก
    • หนึ่ง บริษัทในจีนนั้นรวย แต่รายบุคคลยังยากจน ทางแก้จึงเป็นการส่งเสริมภาคบริการให้มากขึ้น เพราะเงินจะเข้ากระเป๋ารายย่อยได้มากกว่า
    • สอง ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน หลักคิดคือ ให้มีเงินเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากัน คนจนจะจ่ายเพิ่มเป็นสัดส่วนมากกว่า เพราะคนรวยเดิมก็มีเงินพอจับจ่ายใช้สอยแล้ว เงินที่เพิ่มมาก็เอาไปใช้กับการลงทุนและการออม แต่คนจนจะใช้สอยมากกว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งพัฒนาชนบท เพิ่มรายได้ให้คนชั้นล่าง ซึ่งมีพลังที่รอการปลดอยู่ประมาณ 600 ล้านคน
    • สาม ระบบสวัสดิการยังไม่พร้อม ไม่คลอบคลุม คนจำนวนมากเก็บเงินออมไว้สำหรับยามแก่ชรา เจ็บป่วย เป็นทุนการศึกษา ซึ่งหากรัฐส่งเสริมมากกว่านี้ ก็จะกันเงินส่วนดังกล่าวน้อยลงไป
    • สี่ คุณภาพสินค้าจีนไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะชนชั้นกลางขึ้นไป ที่ชอบซื้อของต่างประเทศมากกว่า

คำสาปภาคเหนือของจีน

  • สมัยก่อน ภาคตะวันออกร่ำรวยกว่าตะวันตกมาก แต่สมัยนี้ เมื่อรัฐบาลพัฒนาภาคกลางและตะวันตกไปมาก ที่ยังเหลืออยู่กับก็คือมณฑลภาคเหนือ
  • เมืองขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน 17 เมือง มีเพียงสี่เมืองที่อยู่ตอนเหนือ คือปักกิ่ง เทียนจิน ชิงเต่า และเจิ้งโจว ทั้งๆที่ในอดีตภาคเหนือจีนนั้นเจริญมาก เพราะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ มีรัฐวิสาหกิจมากมาย แต่นั่นทำให้พื้นที่เหล่านี้ติดหล่มความสำเร็จอยู่กับอุตสาหกรรมหนัก หากินกับทรัพยากรที่ร่อยหรอไปเรื่อยๆ
  • ในขณะที่ภาคใต้มีเอกชนเข้ามาลงทุนเรื่อยๆ โตเร็ว เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ทันโลกและตลาด เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคและนวัตกรรม ภาคเหนือจึงกลายเป็นกลุ่มที่ติดหล่ม และฉุดการเติบโตของประเทศไปแทน
  • รัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาลดช่องว่างนี้มากขึ้น เช่น project Jing-jin-ji ที่จะกระจายความเจริญมายังเมืองในภาคเหนือ

พัฒนาเมืองเกษตรกร

  • รัฐบาลมีแนวคิดนโยบายเกษตรว่า จะพัฒนาเกษตรด้วยการพัฒนาเมือง
  • โดยทั่วๆไปอาจคิดว่าต้องพัฒนาชนบทจึงจะช่วยการเกษตร แต่กลยุทธ์ดังกล่าวคือ การต้องยกระดับผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับรายได้เกษตรกร
    • การยกระดับการผลิต ทำให้ใช้คนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ได้ผลผลิตมากขึ้น
    • การยกระดับรายได้ คือการเพิ่มรายได้เกษตรกรต่อหัว เมื่อรายได้เพิ่ม และจำนวนเกษตรกรลดลง ผลคือรายได้ต่อหัวที่มากขึ้นนั่เอง
  • การพัฒนาเมืองจึงสำคัญอย่างมาก นั่นเพราะ
    • หนึ่ง เมืองที่พัฒนาจะมีงานจำนวนมาก ชนบทเข้ามาในเมือง ทำให้คนในชนบทลดลง เกษตรกรลดลง มีรัฐบาลใช้เทคโนโลยีเพิ่มการผลิต ทำให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้น และพื้นที่อาศัยคนชนบทที่ลดลง ก็กลายเป็นการเพิ่มของพื้นที่เกษตร เกิด Economy of scale
    • สอง เมื่อคนเมืองรายได้สูงขึ้น ความต้องการสินค้าเกษตรคุณภาพดีก็สูงขึ้น ยอมจ่ายแพงขึ้น
  • จะเห็นว่า นี่คือการคิดแก้ปัญหาแบบเชื่อมโยง อาจจะยั่งยืนกว่าการแจกเงิน จำนำสินค้า ประกันราคาสินค้าเกษตร ทำให้เห็นภาพที่กว้างขึ้น ว่าการพัฒนาเมือง เทคโนโลยีนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

Tesla กับ Shanghai Speed

  • ใช้เวลาเพียงสิบเดือนเท่านั้น โรงงานผลิตรถ Tesla ที่เซี่ยงไฮ้ ก็สำเร็จไปได้ พร้อมทำงาน เทียบกับโรงงานเทสล่าในสหรัฐ ที่สร้างถึงสองปี
  • อีลอน มัส เรียกสิ่งนี้ว่า Shangai Speed มันเกิดจากอะไร? ถ้ามองในภาพใหญ่ มันสะท้อนความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมจีนว่า
    • หนึ่ง ความพร้อมเรื่องห่วงโซ่การผลิตของจีน
    • สอง แรงงานทักษะจำนวนมหาศาล ซึ่งเทสล่าหาแรงงานและวิศรกรได้ง่ายๆ ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าสหรัฐ
    • สาม รัฐบาลจีนสนับสนุนเต็มที่ ช่วยลดขั้นตอนการขออนุญาต ลดภาษีการขาย ให้เงินอุดหนุนอีกต่างหาก
  • ซึ่งที่จีนเอาใจเทสล่าขนาดนี้ ก็เพื่อแลกกับสิ่งที่เทสล่ารับปากไว้ นั่นคือ
    • หนึ่ง เทสล่าจะใช้ชิ้นส่วนการผลิตในจีน จาก 30% เพิ่มเป็น 100% ภายในสิ้นปี 2020
    • สอง จะสร้างศูนย์ R&D ขนาดใหญ่ในจีน ไว้ออกแบบรถยนในจีนได้เลย โดยมีทีมบริหารและผู้จัดการเป็นคนจีน
  • ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่ามันจะช่วยยกระดับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนไปอย่างมหาศาล
  • นักวิเคราะห์บางคนมองว่า Tesla เหมือน Iphone ช่วงที่มาตั้งฐานการผลิตที่จีน มันทำให้เกิด Supply chain ของ smart phone ตามมา และทำให้มี brand มือถือจีนเช่น Huawei vivo oppo ซึ่งได้ประโยชน์จาก supply chain ดังกล่าวอย่างมหาศาล

เศรษฐกิจราตรี

  • เศรษฐกิจราตรี (Night economy) คือภาคเศรษฐกิจในช่วงเวลาหกโมงเย็นถึงหกโมงเช้า ซึ่งมักเป็นภาคเศรษฐกิจบริการเป็นหลัก สามารถดูดซับแรงงานได้มาก กระจายรายได้ได้ดี จึงเนหนึ่งในวิธีเพิ่มการบริโภคภายในประเทศได้ เป็นหนึ่งในแนวทางของรัฐมนตรีจีน
  • มีการขยายเวลาปิดทำการของห้าง พิพิธภัณฑ์  มีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น ร้านหนังสือ 24 ชม เพื่อตอบสนองกลุ่มท่องราตรี มีการประดับเมืองให้มีสีสันมากขึ้นยามค่ำคืน เป็นต้น
  • แม้แต่ออนไลน์ก็มี night economy เช่นการจัดโปรโมชั่นร้านออนไลช่วงดึกๆ

Pinduoduo อีคอมเมิซยุค Next normal

  • Pinduoduo เป็น ecommerce แนวคิดใหม่ว่า แชมาก ช็อปมาก ยิ่งถูกยิ่งมัน โดยตัวแอปจะให้แชสินค้าที่สนใจกับเพื่อนใน wechat ถ้ามีเพื่อนคนอื่นร่วมสั่งซื้อพร้อมกัน ก็จะได้ราคาถูกลง แต่ละดีลจะกำหนดไว้ว่าถึงจำนวนคนที่กำหนด ก็จะได้ราคาลดลง สิ่งนี้จึงเหมือนการขายส่งผ่านเทคโนโลยี นักการตลาดเรียกว่า Social E-commerce – มีการแชในกลุ่ม พอคนอื่นซื้อ ก็มีคนอื่นๆอยากซื้อตาม เป็นการเล่นตามจิตวิทยาที่คนชอบตามๆกัน
  • นอกจากนี้มันยังเหมาะกับคนจีนที่ไม่ค่อยไว้ใจคุณภาพสินค้าบ้านตัวเอง เวลามีคนมาชวนซื้อของ มันจึงเสริมความเชื่อมั่นได้ และมันยังช่วนคนขายของทำมาเก็ตติ้งโดยไม่ต้องออกแรง
  • Pinduoduo ก่อตั้งเมื่อปี 2015 ท่ามกลางยักษ์ใหญ่ขณั้นที่กำลังห้ำหั่นกัน (Alibaba vs JD) มันจึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่าความสำเร็จทางธุรกิจอยู่ที่การมองเห็นโอกาสที่คนอื่นๆไม่เห็น และกล้าริเริ่มโมเดลใหม่ๆ

GBA มิติใหม่ของคลัสเตอร์เมือง

  • Greater Bay Area (GBA) คือยุทธศาสตร์ที่จะประสานเมืองสำคัญต่างๆบริเวณปากแม่น้ำไข่มุกของจีน มีเมืองหลักสี่เมืองคือ กว่างโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง และมาเก๊า ยุทธศาสตร์ GBA นี้ปรับแนวคิดการพัฒนาของจีนในสามมิติ คือ
    • หนึ่ง จากที่เมืองใหญ่มักจะแข่งกันเอง จนขัดแข้งขัดขากันบ่อย ก็เปลี่ยนมาเป็นประสานจุดแข็งระหว่างกัน คือ กว่างโจงเป็นศูนย์กลางการค้า เซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี เซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี ฮ่องกงเป็นการเงิน มาเก๊าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
    • สอง พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ที่มีคนหนุ่มสาวมากที่สุดของจีน มีคนย้ายถื่นเข้ามามาก จึงได้เปรียบพื้นที่อื่นๆ เพราะวัยทำงานยังมีจำนวนมาก
    • สาม ทำให้เมืองรอบๆ GBA เชื่อมต่อกัน และเจริญขึ้นมาด้วยกัน มีเครือช่ายคมนาคมเชื่อมกันมากขึ้น มีการระบายคนออกชานเมือง

Next Normal ของพรรคคอมมิวนิสจีน

  • Jack Ma เศรษฐีจีน เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสจีน และเป็นบุคคลที่พรรคยกย่องว่าช่วยสร้างความสำเร็จให้เศรษฐกิจจีน จึงดูเป็นอะไรที่ย้อนแย้ง เพราะครั้งหนึ่งพรรคเคยรังเกียจพวกนายทุน และจะสู้เพื่อชนชั้นกรรมาชีพ
  • แต่หากทำความเข้าใจพรรคคอมมิวนิสจีนในปัจจุบัน จะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลก มีห้าเรื่องต้องรู้ของพรรคคอมมิวนิสจีน คือ
    • หนึ่ง เป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก คือมีอยู่ถึง 88 ล้านคน
    • สอง พรรคเลือกคน ไม่ใช่คนเลือกพรรค กว่าที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคได้นั้น จะต้องเรียนหลักสูตร Young pioneer of china พออายุ 14 ก็มี communist youth league of china ที่พรรคตะเลือกเด็กที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆเข้ามาเป็นสมาชิก พอ 18 ก็ต้องส่งใบสมัคร มีการเข้าหลักสูตรต่างๆ มีการทำข้อสอบเข้า และได้การรับรองจากกรรมการพรคคในพื้นที่ โอกาสที่จะสำเร็จนั้น มีแค่ 3 ใน 100 เท่านั้น
    • สาม พรรคเปิดรับนักธุรกิจเข้ามาเป็นสมาชิก พรรคเปลี่ยนแนวทางจากการเป็นตัวแทนชนชั้นกรรมาชีพ มาเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ตั้งแต่ยุคเจียงเจ๋อหมิน จึงมีเหล่านักธุรกิจต้องการมาเป็นสมาชิก เพื่อการสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์กับรัฐบาล และพรรคเองก็อาจส่งเทียบเชิญนักธุรกิจที่มีอิทธิพลอีกด้วย
    • สี่ พรรคปกครองประเทศ และแทรกซึมในทุกองค์กร
    • ห้า พรรคคอมมิวนิสจีนกลายเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ และกลายเป็นพรรคชาตินิยม ไม่ใช่พรรคที่เข้มข้นในอุดมการณ์คอมมิวนิสแบบในหนังสือเรียน แต่เป็นแหล่งสร้างคอนเนกชั่นต่างๆ ในด้านลบมันจึงมีเรื่องเครือข่ายทุนนิยมและพวกพ้องมาด้วย
  • ความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสในยุคเหมา คือตัวแทนผู้ถูกกดขี่ ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนในยุคสีจิ้นผิง กลายมาเป็นการรื้อฟื้นความย่งใหญ่ของชาติและอารยธรรมจีน
  • Jack ma จึงไม่ใช่นักคอมมิวนิสแบบในหนังสือเรียน แต่เป็นคนที่ได้ประโยชน์จากเครือช่ายในพรรค และเชื่อในความคิดชาตินิยม ว่าจีนจะยิ่งใหญ่กลับมา

คนจีนรุ่น 00 เลือกเรียนอะไร

  • ก่อนหน้านั้น คณะสายเศรษฐศาสตร์และการเงินคือยอดนิยมอันกับหนึ่ง แข่งกันมากที่สุด แต่เด็กที่เกิดหลังปี 2000 ความนิยมนั้นเปลี่ยนไป เหมือนยุคหนึ่งในอเมริกาที่คนทำงานใน wallstreet จะได้ความนิยมที่สุด วิชาที่นิยมได้กลายมาเป็นสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ และยังสะท้อนการเลือกคณะเรียนตามความสนใจมากขึ้น มากกว่าความมั่นคงทางการงานและรายได้ สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่นั้นไม่ต้องกัวลเรื่องสร้างเนื้อสร้างตัวเหมือนรุ่นก่อนๆ มีอิสระเลือกเรียนมากขึ้น

 

บทสรุป หมากล้อมของจีน

  • จีนคิดกลยุทธ์แบบหมากล้อม ส่วนอเมริกานั้นคิดแบบหมากรุก
  • หมากรุก คือเก่งในศึกใหญ่แบบชี้เป็นชี้ตาย ส่วนหมากล้อม หมายถึงว่าเก่งแบบในเกมที่ต้องยืดเยื้อยาวนาน
  • กลยุทธ์จีนจึงไม่ใช่การรุกฆาตคว่ำสหรัฐ เหมือนที่สหรัฐรุกฆาตคว่ำโซเวียต แต่เป็นการรักษาพื้นที่ตัวเอง หลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐปิดล้อม เน้นการต่อสู้ระยะยาว ค่อยๆวางกำลัง สร้างอิทธิพลในที่ต่างๆ เพื่อล้อมคู่แข่ง
  • และล้อมโลกใบนี้

Share

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

รีวิวหนังสือล่าสุด

post corona book review รีวิว
Social Science

รีวิวหนังสือ: Post Corona – From Crisis to Opportunity

โลก(อเมริกา) จะเป็นอย่างไรในยุค Post Corona – หนังสือที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงที่จะรวดเร็วและรุนแรง ผ่านมุมมองของศาสตราจารย์นักธุรกิจชั้นเซียน

Crisis wisdom ปัญญาฝ่าวิกฤติ รีวิว
Self-Help

รีวิวหนังสือ: Crisis Wisdom ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ

ณ จุดที่ทุกเหตุปัจจัย ทำให้เกิด” วิกฤติ” เราควรจะทำตัวอย่างไร? จะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น เพื่อพาตัวตน สังคม และประเทศ ออกสู่วิกฤติ ได้อย่างไร?

บทความอื่นๆ

Solon's Warning คำเตือนของ โซลอน
Perspective

คำเตือนของโซลอน – Solon’s Warning

เมื่อพระเจ้าครีซัสผู้มั่งคั่งและทรงอำนาจที่สุดแห่งยุคตรัสถาม โซลอน ว่าเคยพบใครที่มีความสุขมากกว่าพระองค์หรือไม่ เขากลับตอบชื่อสามัญชนที่เสียชีวิตแล้วกลับมา!